สตาร์ทอัพอย่าเพียงคึกคัก ต้องขับเคลื่อนได้

สตาร์ทอัพอย่าเพียงคึกคัก ต้องขับเคลื่อนได้

กระแสความคึกคักของ “สตาร์ทอัพ” ในประเทศไทย

มีอย่างต่อเนื่อง แต่เรียกได้ว่า เป็นธุรกิจระดับตั้งไข่ เมื่อเทียบกับประเทศที่ดำเนินการมานาน มีระบบระเบียบแข็งแกร่ง มีช่องทาง กฎหมาย กฎระเบียบเอื้อหนุนต่อ "นักคิด" นักสร้าง" งานใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัยเริ่มต้น หรือวัยร่วงโรย แต่มีหัวคิดไม่หยุดนิ่ง พร้อมจะสร้างงานใหม่ๆ อยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ที่เพิ่งผ่านไป ล่าสุด กระทรวงการคลัง ยังจับมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้าเว้นภาษีธุรกิจร่วมลงทุน 10 ปี หวังช่วยสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ จากสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้คือการยกเว้นภาษีนิติบุคคล กับธุรกิจการเงินร่วมลงทุนเป็นเวลา 10 ปี แก่ 10 อุตสาหกรรม ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวะภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมก้าวหน้า อุตสาหกรรมสิ่งท่อ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับหน้าที่เป็นผู้ลงทะเบียนให้แก่ผู้จะทำธุรกิจดังกล่าว เพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษี 

ทั้งนี้ธุรกิจร่วมลงทุน เป็นธุรกิจที่เสี่ยงสูง อัตราการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ใน 10 รายอาจมีสำเร็จเพียงแค่ 1-2 รายเท่านั้น ผู้จะเข้าสู่แวดวงสตาร์ทอัพ จึงต้องมีใจรัก และกล้าเสี่ยงลงทุน แต่หากมีกิจการที่ประสบความสำเร็จและเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ จะให้ผลตอบแทนที่สูง โดยธุรกิจการเงินร่วมลงทุนและผู้ที่ลงทุนในธุรกิจวีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับจากการปันผล และกำไรจากการโอนหุ้นสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุนและนักลงทุนจะได้ยกเว้นภาษีเฉพาะในส่วนกิจการที่ลงทุน เป็นเวลา 10 ปี

หลักเกณฑ์เบื้องต้นของกิจการ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเข้าร่วมโครงการได้ ต้องตั้งบริษัทตามกฎหมายไทย ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านบาท รวมทั้งต้องจดแจ้ง ก.ล.ต. ภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ และที่สำคัญต้องเป็นธุรกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต หรือบริการ ผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองร่วมกับ โคเทค (CoTech) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่ทำหน้าที่ประเมินเทคโนโลยีในธุรกิจต่างๆ ของเกาหลีมานานกว่า 20 ปี ในการวางกรอบการพิจารณาการใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการของธุรกิจหรือสตาร์ทอัพของไทย

การกระตุ้นตลาดสตาร์ทอัพ ด้วยสิทธิพิเศษด้านภาษี ถือเป็นสิ่งดีเรื่องหนึ่งที่รัฐควรทำ แต่ขณะเดียวกัน หากต้องการความยั่งยืนของการสร้างสตาร์ทอัพ ก็ต้องดำเนินการในภาพรวม ไม่ละเลยส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องมองรอบด้าน เปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาหนุนช่วย โดยมีรัฐคอยอำนวยความสะดวกปัจจัยพื้นฐานต่างๆ วงการสตาร์ทอัพจะได้คงความคึกคัก เติบโตได้ และมีบรรยายหนุนสร้างสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้าสู่วงการต่อเนื่อง