สัญญาณวิกฤติ ค้าปลีกสู่โค้งต่ำสุดในรอบ 20 ปี

สัญญาณวิกฤติ ค้าปลีกสู่โค้งต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ภาคธุรกิจค้าปลีก เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

  มูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท เป็นอันสองรองจากภาคอุตสาหกรรม แต่ละปีมีการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดเม็ดเงินการลงทุนปี 2558-2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 130,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 43,400 ล้านบาท ยังไม่นับรวมการลงทุนโครงการศูนย์การค้า หรือเมกะมอลล์ขนาดใหญ่มูลค่ารวมระดับ แสนล้านบาท เช่นเดียวกัน การลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 210,000 คนต่อปี การจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 150.000 คน

ในเชิงการลงทุนมูลค่ามหาศาลสวนทางภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อชะลอตัวเริ่มมีความกังวล และคำถามต่อการรักษาระดับการลงทุนเช่นนี้อย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ เมื่อยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคถดถอยลงอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากดัชนีค้าปลีกไตรมาสแรกที่ผ่านมาลดต่ำเหลือการเติบโตเพียง 2.6% เรียกว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปีทีเดียว ทั้งที่ไตรมาสแรกของปียังอยู่ในห้วงของการจับจ่ายใช้สอย ภายใต้บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้าย

สถานการณ์ธุรกิจและผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะบรรดารายใหญ่ย่อมสะท้อนความเป็นจริงของตลาดได้เป็นอย่างดี หากพิจารณาตัวเลขของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่มีสมาชิกผู้ประกอบการค้าปลีกรวมกว่า 40 รายในหลากหลายเซ็กเมนท์ทั้งห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนียนสโตร์ ฯลฯ มียอดขายรวมกันเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดขายรวม 3.1 ล้านล้านบาท ระบุถึงตัวเลขการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในอัตราถดถอยลงถึงขึ้น ติดลบ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จากช่วง 10 ปีก่อนหน้าเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี บางปีเติบโต 12-13% หรือบางเซ็กเมนท์พุ่งถึง 20%

โดยตัวเลขสะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เติบโตในระดับ 2.7% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เรียกว่าแทบจะไม่มีการเติบโตเลย หากเทียบช่วงเวลาปกติเติบโตในระดับ 12-14% สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภค ที่มีรายได้ระดับกลางลงล่างที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตร ที่ยังมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านกลางทุนหมู่บ้านต่างๆ

แม้ผู้บริโภคระดับกลางขึ้นบนยังมีกำลังซื้อที่แข็งแรงอยู่ รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสูง 12% กลับไม่ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งทนเติบโตแต่อย่างใด โดยหมวดสินค้ากึ่งคงทน อาทิ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา เติบโตถดถอยมาตลอดเช่นกัน จากที่เคยมีการเติบโตเฉลี่ย 8-12% ในช่วง 10 ปี่ผ่านมา ซึ่งปีก่อนเติบโตเพียง 3% และไตรมาสแรกที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 2.6%

  สำหรับไตรมาสสองและกำลังก้าวสู่ไตรมาสสามนี้ เป็นช่วงโลว์ซีซันของการจับจ่ายและการท่องเที่ยวท่ามกลางตลาดที่ ไร้สัญญาณบวก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากประเมินผลตอบรับยังไม่เปรี้ยง!! หรือสะท้อนภาพการออกมาจับจ่ายอย่างคึกคักมากนัก ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายบอกตรงกันว่า กำลังซื้อแผ่วลงอย่างเหลือเชื่อ!! แม้งัดสารพัดกลยุทธ์ทั้งลดแลกแจกแถมมาใช้ชนิดมาทุกวันเจอทุกวัน บางห้างปักป้ายแคมเปญผ่อน 0% ยิงยาวสิ้นปี 2559 เลยทีเดียว จากปกติจะมาให้เลือกใช้บริการเป็นช่วงๆ

กำลังซื้อซึมลึกและยาวนานรอบนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และผู้ประกอบการจะกระตุ้นชีพจรกันต่อไปอย่างไร? เพราะลำพังตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยน่าจะเป็นเรื่องปกติในทุกวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เวลานี้กลับลามถึงสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในชีวิตประจำวัน... การใช้จ่ายที่ลดฮวบลงมากย่อมมีนัยสำคัญ!!