วิกฤติภัยแล้ง 2559

วิกฤติภัยแล้ง 2559

วิกฤติภัยแล้งยังคุกคามและกดดันต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น

แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกเริ่มคลี่คลายดีขึ้น แต่ความกังวลยังมีมากต่อปัญหาภัยแล้งที่จะมีผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรที่สำคัญๆ นับตั้งแต่ข้าว (นาปรัง) พืชสวนครัว ผักและผลไม้ ที่ขยายตัวไปยังประมงน้ำจืดและปศุสัตว์ที่ผลผลิตของหมู ไก่ เป็ด ไข่ และสัตว์น้ำจืดลดลง และดันให้ราคาอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ปรับสูงขึ้น จะเห็นได้ว่าปริมาณผลไม้หลายชนิดในปีนี้มีผลผลิตลดน้อยลงเนื่องจาก ขาดแคลนน้ำ ทั้งกล้วย มะม่วง ทุเรียนและอื่นๆ จึงทำให้หลายหน่วยงานเริ่มมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาจากเดิมที่พูดกันในเกณฑ์ร้อยละ 3.5-4.0 ลงมาอยู่ในระดับ 3.0-3.5 ที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

ปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างน้ำขนาดใหญ่ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2556 แต่มาเผชิญกับความขาดแคลนที่รุนแรงในปี 2558 เมื่อประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วง และสถานการณ์นี้ได้ต่อเนื่องมายังปี 2559 ที่ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรต้องลุ้นและอยู่ด้วยความคาดหวังว่า เมื่อไรฝนจะตก และแม้ในปลายเดือนเมษายนก็ได้มีพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นเพียงการช่วยบรรเทาความร้อนของอากาศ แต่ปัญหาความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำยังมีความรุนแรงในหลายพื้นที่

จากข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 3 พ.ค.ได้มีประกาศเขตผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในปัจจุบันมีมากถึง 29 จังหวัด 160 อำเภอ 752 ตำบล และ 6,101 หมู่บ้าน โดยเป็นจังหวัดในภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก จำนวน 51 จังหวัด ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค/บริโภค จนต้องมีการใช้รถน้ำของหน่วยงานราชการขนน้ำเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำจนไม่มีน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 33 แห่ง มีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 33,896 ล้านลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุ เป็นปริมาตรน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ 10,135 ล้าน ลบ.เมตร ปริมาตรน้ำในอ่างเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีอยู่จำนวน 38,458 ล้าน ลบ.เมตรแล้ว ลดลงถึง 4,652 ล้าน ลบ.เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างจำนวนเฉลี่ย 11.7 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน และปริมาณน้ำระบายอีกจำนวน 66.85 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน จากคาดการณ์ของกรมชลประทานทั้งประเทศจะมีน้ำใช้ไปถึงประมาณเดือนสิงหาคมโดยไม่มีน้ำฝนตกลงมา จึงเป็นสถานการณ์ที่ตอนนี้ทุกคนต่างเฝ้ารอคอยน้ำฝนอย่างใจจดจ่อ ก็ขอให้คาดการณ์ของหน่วยงานราชการถูกต้องว่าในปีนี้จะเป็นปีนี้มีปริมาณฝนตกในสภาวะปกติ และไม่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงที่ยาวนานเช่นในปีที่ผ่านมา

ปัญหาเรื่องน้ำนี้เป็นสิ่งที่ทางการได้ตระหนักและได้มีแผนรองรับไว้แล้ว ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้แผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2558/2559(วันที่ 1 พ.ย. 2558- 30 เม.ย. 2559) ไว้ดังนี้ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2558 ปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถใช้การได้ 20,035 ล้าน ลบ.เมตร โดยการวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 11,420 ล้าน ลบ.เมตร ตามลำดับความสำคัญดังนี้ (1) เพื่อการอุปโภค/บริโภค 1,173 ล้าน ลบ.เมตร (2) รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,487 ล้าน ลบ.เมตร การรักษาระบบนิเวศน์ นี้หมายถึงการปล่อยน้ำให้ต้านระดับความเค็มของน้ำทะเล และการบำบัดน้ำเสียเป็นหลัก (3) เกษตรกรรม 3,564 ล้าน ลบ. เมตร และ (4) อุตสาหกรรม 196 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งสรุปผลการจัดสรรน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. 2558-30 พ.ย. 2559 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศจัดสรรน้ำได้รวม 11,526 ล้าน ลบ.เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนการจัดสรรน้ำ

นอกเหนือไปจากแผนการจัดสรรน้ำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่ได้ดำเนินในเขตต่างๆ ทั่วประเทศที่มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ การสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำ และอีกประการคือโครงการทำฝนหลวงในการเพิ่มปริมาณน้ำตามอ่างกักเก็บน้ำหลักๆ แต่การทำฝนหลวงนี้ไม่สามารถทำได้หากปริมาณเมฆไม่เอื้ออำนวย สำหรับในอนาคตคงจะต้องอาศัยโครงการแก้มลิงที่เป็นการเก็บกักน้ำฝน ที่เราสูญเสียไปจำนวนมากในแต่ละปีให้เป็นแหล่งน้ำสำรอง

ภาพวิกฤติภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดรู้สึกว่า น่าจะต้องมีมาตรการในการประหยัดน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน โดยแฉพาะประชาชนชาว กทม.ที่นับว่าโชคดีที่มากที่สุดในการดูแลไม่ให้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงทำให้คนส่วนหนึ่งยังใช้น้ำอย่างไม่เห็นคุณค่า ทั้งที่ควรตระหนักถึงปัญหาว่าไม่ใข่เรื่องไกลตัว และเป็นสิ่งที่ต้องสร้างจิตสำนึกและมีพฤติกรรมในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเห็นคุณค่า ซึ่งภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่จะต้องช่วยกันมีมาตรการประหยัดการใช้น้ำให้มีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน