ปัญหาจำนำข้าว ถกเถียงกันไม่จบสิ้น

ปัญหาจำนำข้าว ถกเถียงกันไม่จบสิ้น

กรณีการฟ้องร้องดำเนินคดี โครงการรับจำนำข้าว

ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีทั้งผู้ถูกดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาจำนวนมาก รวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อใช้บังคับทางปกครองกับนักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท 

การดำเนินคดีกรณีโครงการรับจำนำข้าว ถือว่าเป็นหนังเรื่องยาว อีกทั้งมีประเด็นถกเถียงกันในหลายแง่มุม แม้ขณะนี้เรื่องจะอยู่ในขั้นตอนของศาล แต่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ระหว่างผู้ที่เห็นว่าโครงการนี้มีการทุจริต และมีความบกพร่องในการบริหารงานของรัฐบาลก่อน กับอีกฝ่ายที่เห็นว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และยืนยันว่าโครงการนี้มีผลดีมากกว่าผลเสีย และปฏิเสธประเด็นที่มีการกล่าวหากันว่าทำให้รัฐขาดทุนหลายแสนล้านบาท

อันที่จริง โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล หรือเรียกว่านโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรของรัฐบาล เช่นเดียวกับนโยบายอุดหนุนอื่นๆ เพียงแต่มีขั้นตอนและมูลค่าของโครงการค่อนข้างมาก เนื่องจากดำเนินการต่อเนื่องกันหลายปี ซึ่งมีการใช้เงินจำนวนมากจากโครงการนี้ ประเด็นความน่าสนใจคือเราจะพิจารณานโยบายของรัฐบาลจากแง่มุมใดและจะตัดสินอย่างไรว่าโครงการนี้ควรดำเนินการหรือไม่

การรับรู้เกี่ยวกับโครงการนี้ ได้ถูกจัดเป็นโครงการประชานิยม และรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศไปแล้ว ว่าจะไม่ดำเนินโครงการในลักษณะนี้ แต่จะช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถยืนอยู่ได้ในระยะยาว แต่ก็มีปัญหาเช่นเดียวกันว่าหลายนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันจะเรียกเป็นประชานิยมได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่สิ้นสุด และต้องจับตากันต่อไปว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองของประเทศในครั้งนี้ จะมีการควบคุมการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในลักษณะต่อไปในอนาคตหากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในขณะนี้ ยังวนเวียนในเรื่องใครผิดใครถูก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียหายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยที่จะมีโอกาสในการพิจารณานโยบายในลักษณะนี้ว่าสมควรหรือไม่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากเป็นตัวเงินตามที่มีการสรุปออกมาให้เห็นเป็นระยะ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันของคนในสังคม ว่าจะตัดสินหรือมองโครงการในลักษณะนี้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตหากนโยบายเหล่านี้สร้างปัญหาจริง

เราเห็นว่าในขณะนี้เริ่มมีการกล่าวถึงโครงการนี้กันอีกครั้ง ในขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีนักการเมือง ซึ่งก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันอีกรอบจากเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยก็อาจเป็นเชื้อไฟให้เกิดความขัดแย้งได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้นและให้เกิดความเข้าใจร่วมกันต่อโครงการนี้ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะตราบใดที่ยังมีความเข้าใจต่างกันของคนในสังคม ต่อโครงการเช่นนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่ สำหรับการดำเนินนโยบายต่อไปของรัฐบาลหน้าได้ 

ปัญหาก็คือเราจะทำอย่างไรให้การถกเถียงเรื่องนี้ก้าวพ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นการประเมินโครงการอย่างรอบด้าน และชี้แจงให้สังคมเข้าใจอย่างครบถ้วนจากทุกฝ่ายที่เห็นต่างกัน จากนั้นจึงสร้างมาตรฐานร่วมกันในการตัดสินว่า สมควรจะดำเนินโครงการลักษณะนี้หรือไม่ในอนาคต