สิงคโปร์พร้อมสำหรับ นายกฯที่ไม่มีเชื้อสายจีนหรือไม่?

สิงคโปร์พร้อมสำหรับ นายกฯที่ไม่มีเชื้อสายจีนหรือไม่?

เมื่อวานเขียนถึงหนังสือ The Ocean in a Drop.

 Singapore : The Next Fifty Years โดย Ho Kwon Ping (โฮ กวน ปิง) ที่วาดภาพประเทศสิงคโปร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า มีหลายประเด็นที่น่าศึกษาวิเคราะห์ว่า เขามองประเทศของเขาหลังจากอดีตนายกฯลีกวนยิวอย่างไร

หนึ่งในคำถามหลังจากโฮ กวน ปิง ปาฐกถารอบที่ 5 และรอบสุดท้ายใน IPS-Nathan Lecture Series ที่จัดระหว่างเดือนต.ค.2014 ถึง เม.ย. 2015 คือ:

สิงคโปร์พร้อมจะมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คนเชื้อจีนหรือไม่? และหากเราพร้อม และเราสามารถหานายกฯคนนั้นได้ จะมีผลกระทบต่อประเทศของเราในเวทีสากลอย่างไร? ประเทศอื่นจะคิดกับเราอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและไต้หวัน?

เป็นคำถามที่หลายคนตั้งไว้ในใจมานานพอสมควร และเมื่อเปิดเวทีซักถามภายใต้การวาดภาพไปในอนาคตของสิงคโปร์ ก็ย่อมเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง

โฮ กวน ปิง ประธานบริหารของ Banyan Tree Holdings ซึ่งมีเครือข่ายโรงแรมไปทั่วโลก ตอบว่า

ก่อนหน้านี้ คุณว่าอเมริกาพร้อมจะมีประธานาธิบดีผิวดำหรือไม่? คำตอบก็คงไม่ชัดนัก แต่ผมคิดว่าเมื่อสหรัฐมีประธานาธิบดีคนผิวดำครั้งแรกก็สะท้อนถึงอะไรในสังคมนั้นมากมาย...

“ผมคิดว่าเราพร้อม...หรือจะพร้อมในเร็ว ๆ นี้ ผมไม่คิดว่าสิงคโปร์ในวันพรุ่งนี้ หรือสิงคโปร์ในสายตาของลูก ๆ ของผมและเพื่อนของพวกเขาจะแยกแยะคนบนพื้นฐานของเผ่าพันธุ์ หรือสีผิวพวกเขาคงจะแยกแยะตามแนวทางความคิดมากกว่า

“แต่ผมก็จะมองโลกในแง่ความเป็นจริงเหมือนกัน ถ้ามีคนสองคน มีความรู้ความสามารถเท่า ๆ กัน คนหนึ่งเป็นเชื้อจีน อีกคนเป็นเชื้ออินเดียหรือมาเลย์ ใครจะได้ตำแหน่งนั้น? ผมก็ต้องยอมรับว่าการตัดสินก็คงจะต้องมีเรื่องความผูกพันกับเชื้อชาติ แต่ถ้าหากพรรคการเมืองชั้นนำอย่างเช่น PAP จะเสนอนายกฯที่ไม่ใช่คนเชื้อจีน คนทั้งประเทศจะยอมรับไหม? ผมคิดว่าจะยอมรับ

พรรคจะสูญเสียอำนาจเพียงเพราะมีนายกฯที่ไม่มีเชื้อชาติหรือไม่? ผมเชื่ออย่างสุจริตใจ และผมหวังว่าจะไร้เดียงสาพอที่จะเชื่อว่าถ้าคนนั้นมีความรู้ความสามารถเพียงพอ เราก็จะยอมรับได้ ตอนนี้เราก็มีรองนายกฯ ที่ไม่ใช่คนจีนแต่ก็เป็นคนที่ประชาชนยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

“ต่อคำถามที่ว่าประเทศอื่นจะมีปัญหากับเราหรือไม่ถ้าเรามีนายกฯที่ไม่ใช่คนเชื้อสายจีน คำตอบของผมก็คือผมหวังจริง ๆ ว่านั่นจะไม่ใช่ประเด็นสำหรับการพิจารณาเรื่องนี้ในหมู่คนสิงคโปร์กันเอง เราเป็นประเทศอธิปไตย เราควรจะเลือกผู้นำของเราตามที่เราเองเชื่อว่าเหมาะสม ความสัมพันธ์ของเรากับประเทศจีนไม่ได้ถูกกำหนดโดยความผูกพันทางเชื้อชาติของผู้นำเรา....”

เป็นคำตอบที่ต้องวิเคราะห์รอบด้าน และคนสิงคโปร์อื่น ๆ ก็อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างจากเขา แต่คำถามนี้ย่อมอยู่ในใจของคนที่นั่นไม่น้อย เพราะเรื่องเชื้อชาติศาสนาเป็นประเด็นละเอียดอ่อนของสังคมเล็ก ๆ ประชากร 4-5 ล้านคนที่เคยเผชิญกับความวุ่นวายทางสังคมด้วยเรื่องความขัดแย้งในเชื้อชาติมาก่อน

แต่คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์อาจคิดต่างจากรุ่นก่อนเก่าอย่างที่ โฮ กวน ปิง ตั้งความหวังเอาไว้ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่การที่เขานำเอาประเด็นหลายเรื่องที่เคยถือว่า ห้ามพูดในที่สาธารณะ ในยุคของลีกวนยิวมาถกแถลงอย่างเปิดเผย ในบางเวทีได้ก็ต้องถือว่าความเปลี่ยนแปลงในทางบวกเริ่มจะปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว