หุ้นไทยกับบรรษัทภิบาลบกพร่อง

หุ้นไทยกับบรรษัทภิบาลบกพร่อง

ตลอดช่วง 4 เดือนแรกของปี2559 กระแสของบรรษัทภิบาล

ในตลาดหุ้นไทยได้รับความสนใจอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ที่เป็นข่าวใหญ่กรณีผู้บริหารบริษัทซีพีออลล์ (CPALL) ซึ่งกลุ่มผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในนำมาใช้ประโยชน์ซื้อขายหุ้น จนถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปรียบเทียบปรับ และมีกระแสการเรียกร้องให้ดำเนินการกับผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง จนเรื่องราวสิ้นสุดไปแล้ว

เมื่อไปตรวจสอบข้อมูลสำนักงานก.ล.ต.ตั้งแต่ต้นปี พบว่า มีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ถูกเปรียบเทียบปรับในหลายๆ กรณีเช่น การใช้อินไซเดอร์เทรดดิ้ง การสร้างราคาหุ้นและรายงานข้อมูลไม่ถูกต้องหรือมไม่เป็นไปตามกำหนด รวม 9 บริษัท ประกอบด้วย หุ้นบริษัท แปซิฟิกไพพ์ (PAP) ผู้บริหารถูกเปรียบเทียบปรับกรณีใช้อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ,บริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) ถูกเปรียบเทียบปรับกรณีสร้างราคาหุ้น บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ถูกเปรียบเทียบปรับกรณี อินไซเดอร์เทรดทิ้ง บริษัท กรุงเทพประกันภัย (BKI) ถูกเปรียบเทียบปรับกรณีอินไซเดอร์เทรดดิ้ง บริษัท เฟอร์รั่ม (FER)เดิมคือบริษัทเอ็มลิงค์ คอร์ปอเรชั่น(MLINK) ถูกเปรียบเทียบปรับกรณีรายงานเท็จ บริษัท เอเซีย เมทัล(AMC) ถูกเปรียบเทียบปรับสร้างราคาหุ้น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA )ถูกปรับกรณีเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้า  บริษัท นิปปอน แพ็ค(ประเทศไทย)NPPถูกเปรียบเทียบปรับกรณีนำส่งรายงานไม่ถูกต้อง และบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) PROถูกเปรียบเทียบปรับกรณีนำส่งรายงานไม่ถูกต้อง 

แม้ตัวเลขเงินค่าปรับบางกรณีอาจจะไม่สูงมาก แต่การกระทำก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า พฤติกรรมของผู้บริหารว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และบริษัทควรจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงตัวผู้บริหารเองจะแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ แล้วแต่กรณี และประเด็นหลังนี้ติดตามข้อมูลแต่ละบริษัทจากตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ผู้บริหารถูกเปรียบเทียบปรับจนถึงปัจจุบัน พบว่า หุ้นส่วนใหญ่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มี 3 บริษัทที่ปรับตัวลงและถ้านำมาเปรียบเทียบกับดัชนีภาพรวมตลาดหุ้นไทย ซึ่งดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% แต่มีหุ้นบางตัวที่ผู้บริหารเกี่ยวโยงกับกรณีถูกเปรียบเทียบหลายเท่าตัว ดังนั้นน่าจะสะท้อน บทบาทหรืออิทธิพลต่อระบบบรรษัทภิบาลในตลาดหุ้นไทยได้บ้าง

สำหรับหุ้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดตั้งแต่ต้นปีได้แก่ หุ้นแปซิฟิกไพพ์ ราคาเพิ่มขึ้น 36.67% รองลงมา หุ้นเอเซีย เมทัล เพิ่มขึ้น 28.67% หุ้นสยามโกลบอล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.46%เป็นต้น

ขณะที่หุ้นปรับตัวลดลงมากสุดได้แก่ หุ้นชูโอ เซ็นโก ลดลง 12.45% รองลงมาหุ้นนิปปอนลดลง10.63% และหุ้นกรุงเทพประกันภัย ลดลง1.11%

จากข้อมูลข้างต้นอาจจะสะท้อนให้เห็นว่า ความสำคัญของระบบซีจีกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น มีความสำคัญแค่ไหน การรณรงค์เรื่องบรรษัทภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่คงต้องรณรงค์ทั้งฝั่งผู้บฏิบัติ คือ บริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนเองก็ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญร่วมกันด้วย เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดหุ้นไทยให้ก้าวไกลตามมาตรฐานสากล อย่างที่หลายๆคนหวังเอาไว้