‘The New Case for Gold’: ทองคำในมุมใหม่?

‘The New Case for Gold’: ทองคำในมุมใหม่?

บอกตามตรงว่าแต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่ค่อยเชื่อแนวคิดของคุณเจมส์ ริคาร์ดส ในการมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ

ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ จะเกิดวิกฤติจากยุโรปในเวลาอีกไม่นาน หรือว่าดอลลาร์กำลังจะล่มสลาย รวมถึงมุมมองในแง่ร้ายในประเด็นยูโรและอื่นๆ อีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในตัวคุณริคาร์ดส คือเขามักจะมีเหตุผลที่ดูน่าสนใจและน่าเชื่อถือมาก นอกจากนี้ คุณริคาร์ดสยังเขียนหนังสือได้ดีมาก ผมถือเป็นแฟนหนังสือคุณริคาร์ดส ทว่าก็ไม่ใช่ว่าจะเชื่อในสิ่งที่เขียนทั้งหมดและจะคล้อยตามเหตุผลของเขาแค่ไม่เกินร้อยละ 20 ด้วยเหตุนี้ เมื่อหนังสือเล่มใหม่ของคุณริคาร์ดสที่ชื่อ ‘The New Case for Gold’ ออกมา ผมจึงไม่ลังเลที่จะหยิบมาเขียนถึง

ก่อนอื่นขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นหนังสือที่อ่านง่ายและสั้นที่สุดเท่าที่เขาเขียนมา แต่สิ่งที่ผมชอบมากกว่าเล่มก่อนๆ คือ คุณริคาร์ดสมีความเป็นกลางในการวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ค่อยฟันธงว่าสิ่งไหนจะเกิดขึ้นแบบตั้งธงสิ่งที่ตนเองเชื่อจนเกินงาม แม้เขาจะออกตัวว่าชอบแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แนวจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ไม่ชอบแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์เงินตรานิยมแบบตั้งใจตั้งแต่หน้าแรกๆ ก็ตาม

จุดหลักของหนังสือเล่มนี้ มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง นักลงทุนควรจะมีทองคำอยู่ในพอร์ตของตนเองประมาณร้อยละ 10 ของพอร์ตทั้งหมด หรือถ้ากล้าเสี่ยงหน่อยถือไว้ให้ถึงร้อยละ 15 ของพอร์ตก็ได้

สอง ราคาทองคำอาจจะขึ้นไปถึง 10,000-50,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ไม่ใช่เร็วๆ นี้ อาจจะเป็นอีกหลายปีแต่คุณริคาร์ดสก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นปีไหน สิ่งที่แนะนำไว้คือ ถือทองคำไว้ แล้วลืมมันไปเลย ไม่ต้องดูว่าราคาทองคำในวันนี้หรือสัปดาห์หน้าว่าจะเป็นอย่างไร ให้รอเวลาจนกระทั่งเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ซึ่งคุณริคาร์ดสบอกว่าวิกฤติเที่ยวหน้าจะแรงกว่าวิกฤติซับไพร์มหลายเท่า แล้วจะทำให้ราคาทองคำจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน

สาม นักลงทุนทั้งหลายแม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองยังเข้าใจผิดว่าทองคำเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทนหรือ Yield ระหว่างทาง เพราะแท้จริงแล้วทองคำมิใช่การลงทุนที่จะเปรียบเทียบได้กับหุ้นหรือพันธบัตร แต่ทองคำคือเงินสกุลหนึ่งที่เทียบได้กับดอลลาร์ ยูโร หรือแม้แต่ Bitcoin

ผมขอพูดถึงจุดดีและจุดด้อยของหนังสือเล่มนี้ ดังนี้

เริ่มจากจุดดีก่อน ผมเห็นว่ามีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ความชัดเจนของการแนะนำเรื่องการลงทุนทองคำว่าควรจะทำในสัดส่วนแค่ไหนด้วยเหตุผลอะไร โดยคุณริคาร์ดสใช้วิธีการเรียงลำดับในการให้เหตุผลว่า ทองคำเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะลงทุน ตั้งแต่ความไม่ชอบมาพากลของธนาคารกลางสหรัฐ มองว่าทองคำมีค่าในตัวเอง ตามด้วยยืนยันว่าแทัจริงแล้วปริมาณทองคำมีอยู่ในปริมาณที่ไม่น้อยเกินทว่าไม่มากเกินที่จะเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ โดยมองว่าท้ายสุดนักลงทุนรายใหญ่และธนาคารกลางจะเป็นผู้ที่ถือครองทองคำเกือบทั้งหมด เพื่อป้องกันตัวเองในยามที่เกิดวิกฤติ

สอง ผมยังชอบหนังสือเล่มนี้ที่ย้ำว่า มีความไม่สมมาตรระหว่างความไม่สมดุลของระบบการเงินโลก กับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเงินโลก กล่าวคือความไม่สมดุลดังกล่าวมีทั้งประเด็นขนาดของแบงก์ขนาดใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันที่ผมเขียนถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และความเชื่อมโยงระหว่างจุดเสี่ยงต่างๆของเศรษฐกิจโลก ทำให้เมื่อเกิดแรงสะดุดต่อความไม่สมดุลดังกล่าวจนมีขนาดสูงขึ้น 2 เท่า จะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติโลกให้เกิดขึ้นมากกว่า 2 เท่า

สำหรับจุดด้อย ผมเห็นว่ามีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การฟันธงว่าราคาทองคำอาจจะขึ้นไปถึง 10,000-50,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้วยการบอกว่าระบบการเงินในตอนนี้ จะต้องกลับไปใช้ระบบการเงินที่ใช้ทองคำหนุนหลังบางส่วนในที่สุด จนทำให้ราคาทองคำสูงไปถึงขนาดนั้น ไม่ได้กล่าวถึงแนวทางการคำนวณจากสมมติฐานไปสู่ตัวเลขดังกล่าว ที่สำคัญที่สุดไม่ได้แสดงขั้นตอนจากตัวเลขที่กำหนดในสมมติฐานไปสู่ระดับราคาทองคำดังกล่าว

สอง ผมว่าคุณการที่ริคาร์ดสประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐใช้แบบจำลองดุลยภาพในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เป็นจริงเมื่อยามเกิดวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเสี่ยงมีคุณสมบัติที่เป็นแบบการเติบโตแบบทวีคูณ หรือเป็นแบบที่ระดับความเสียหายสูงๆ มีโอกาสไม่น้อยหรือ Fat-tail ซึ่งการวิเคราะห์ที่ใช้แบบจำลองดุลยภาพมิได้คำนึงถึงนั้น ผมคิดว่าเป็นจริงเฉพาะในช่วงก่อนปี 2009 หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ รู้ซึ้งถึงความจริงข้อนี้หลังจากวิกฤติในครั้งนั้น

โดยสรุป ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ในมุมมองของการลงทุนที่ให้คำแนะนำการลงทุนทองคำได้ชัดเจนและน่าเชื่อถือ แต่หากมองจากเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ผมว่าหนังสือเล่มนี้ให้ไว้ยังไม่ชัดเจนมากเท่าที่ควรครับ