การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับอาเซียน (ตอน 1 เรื่องกรอบนโยบาย)

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับอาเซียน (ตอน 1 เรื่องกรอบนโยบาย)

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก แต่ขนาดของการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ และความสามารถต้านทาน

ต่อผลกระทบและความสามารถในการปรับตัว แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ประเทศ และท้องที่ ในโอกาสที่ประเทศในภูมิภาคนี้ได้รวมตัวและเปิดพรมแดนประเทศเป็นประชาคมอาเซียน ผมก็อยากนำเสนอบทความที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของอาเซียน ผลกระทบ ความสนใจเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิก การร่วมกันดำเนินงานทั้งในกรอบของประชาคมอาเซียนและการดำเนินการในทั้งลักษณะทวิหรือพหุพาคี

ประเด็นแรก จะขอพูดถึงการจัดโครงสร้างลักษณะงานภายในอาเซียน ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานหลักของประชาคมอาเซียน ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันให้มีกรอบข้อตกลง เพื่อดำเนินการร่วมกัน 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community, AEC), ด้านสังคม-วัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community, ASCC), และด้านความมั่นคง (ASEAN Political Security Community, APSC) เรามักได้ยินจากสื่อต่างๆ เรื่อง AEC เพราะได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่เราค่อนข้างมาก แต่ด้านอื่นๆ ก็มีการดำเนินการร่วมกันและน่าจะมีผลต่อความเป็นอยู่ของเราไม่น้อยเช่นกันสำหรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นย่อยในหัวข้อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ของ ASCC ซึ่งรายละเอียดของหลักการและประเด็นย่อยที่สมาชิกเห็นร่วมกันว่ามีความสำคัญ อยู่ในเอกสารที่เรียกว่า ASCC Blueprint ภายใน ASCC มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อขับเคลื่อนและจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศก็จะมีคณะทำงานที่เรียกว่า Adhoc Working Group on Climate Change, AWCCC) ประเทศไทยเคยเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้อยู่ระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว เพราะประธานคณะทำงานต้องมีการผลัดเปลี่ยนเป็นประเทศอื่นๆ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

ASCC blueprint ที่เกี่ยวกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับอาเซียน ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักกำหนดไว้กว้างๆ ว่า เพื่อการเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมีการกำหนดกิจกรรม ที่จะดำเนินการเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เช่น การเพิ่มความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วม การสนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างคุ้มค่า และสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการด้านอื่นๆ ของอาเซียน

ที่กล่าวมา คือกรอบการดำเนินการในระดับนโยบายอาเซียนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในทางปฏิบัติผมมีประสบการณ์ช่วงสั้นๆ สมัยที่ประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงาน AWCCC นี้ก็เลยถือโอกาสมาแชร์ให้ฟัง โดยในช่วงนั้นทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนใจที่จะสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนข้อมูล กับประเทศในอาเซียน ประกอบกับช่วงนั้นจะมีการประชุมคณะทำงานฯ และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่สนใจ เสนอโครงการเพื่อดำเนินการร่วมกันได้ สกว. จึงเสนอหัวข้อวิจัย เพื่อให้ AWCCC พิจารณา รับรองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศอาเซียนเห็นร่วมกันและเป็นการดำเนินงานภายใต้ชื่อ “อาเซียน” ได้

ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากประสบการณ์นี้ และคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน อันแรกคือ ประชาคมอาเซียนนั้น มีงบประมาณการดำเนินการอย่างจำกัด ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อทำโครงการที่เราเสนอได้ แต่ที่ทำได้คือ ให้การรับรองว่าเป็นการดำเนินงานโดยประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญต่อการดำเนินการเจรจากับแหล่งงบประมาณจากแหล่งทุนหรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ประการที่สองคือ การที่แหล่งทุนหรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เหล่านี้จะให้การสนับสนุนโครงการใดโครงการเหล่านั้นต้องเป็นโครงการที่มีประโยชน์มี output ที่ชัดเจนที่แสดงถึงการเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เจ้าของแหล่งทุนนี้มีส่วนในการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนในการทำโครงการเหล่านี้

ในการร่วมกันระหว่างประเทศของประชาคมอาเซียนที่กล่าวมานั้น เป็นการเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะทำให้เกิดการขยับทั้งในมุมงานวิจัยและการปฏิบัติแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งประเทศในแถบอาเซียนล้วนเป็นประเทศที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบสูง และถึงแม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ แต่การร่วมมือผนึกกำลังสามัคคีและอาศัยเวทีนี้เป็นตัวการการันตีรับรองเพื่อหาแนวทางการสนับสนุนจากแหล่งทุนที่มีศักยภาพและให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อไปได้ อย่างน้อยทำให้ประเทศในแถบอาเซียนมีความหวังและเส้นทางในการดำเนินงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเป็นการสร้างความร่วมมือร่วมกันจนอาจนำมาสู่การร่วมมือกันทางงบประมาณของประชาคมอาเซียนกันต่อไป