ผู้นำถ่อมตัว “ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์”

ผู้นำถ่อมตัว  “ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์”

ผู้นำที่มองเห็นข้อดีของคนอื่นและรู้จักยกย่องให้เกียรติ จะเป็นที่ชื่นชมยอมรับของคนรอบข้างมากกว่าผู้นำที่มีอัตตาสูง

ดิฉันเป็นคนที่ชอบฟังเพลง และชอบชมรายการประกวดแข่งขันความสามารถในการร้องเพลง โดยเฉพาะรายการ “เดอะ วอยซ์”ของสหรัฐอเมริกา (The Voice –USA) เพราะความที่สหรัฐฯเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมาก เป็นประเทศผู้นำของโลกทำให้บรรดาผู้สมัครที่มาแข่งขันในเวทีที่สหรัฐฯต่างต้องเตรียมตัวมาดี ต้องมีความสามารถสูง เพราะการแข่งขันที่สหรัฐฯเปรียบเสมือนเป็นเวทีระดับโลก ถ้าไม่เก่งจริงย่อมยากที่จะผ่านการคัดกรองมาออกทีวีให้คนดูกันได้ทั่วโลก

หลังจากที่ได้ติดตาม เดอะวอยซ์ อเมริกามาหลายปีแล้ว จึงเห็นว่าบรรดาโค้ชสลับเปลี่ยนหน้ากันบ้าง แต่โค้ชตัวหลักของรายการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็คือ ศิลปินเพลงคันทรี่รูปหล่อร่างใหญ่ เบลค เชลตัน แอดัม เลอวีน (หล่ออีกเหมือนกัน) ศิลปินแนวป๊อปร็อคแห่งวง มารูนไฟฟ์ที่สาวๆทั่วโลกกรี๊ดดดด คริสตินา อากีเลรา ศิลปินสาวสุดเซ็กซี่ แนวป็อบ/อาร์แอนด์บี ศิลปิน 3คนนี้ถือเป็นโค้ชตัวยืนพื้นของรายการเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะเบลคและแอดัมนั้นเป็นขาประจำมาหลายปีติดต่อกันแล้ว และสำหรับ 4 ปีที่ผ่านมาได้มีโค้ชหน้าใหม่มาเสริมทัพในฤดูกาลที่ 7ซึ่งก็คือ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ ศิลปินผิวสีแนวฟังค์ร็อค ฮิปฮอป และอาร์แอนด์บี โดยเมื่อ 2ปีที่แล้ว เฟรเดอริค ซอว์เยอร์ ผู้สมัครวัย 16ปีในทีมของฟาร์เรลล์สามารถคว้ารางวัล “เดอะวอยซ์” มาได้สำเร็จ

สำหรับรายการเดอะวอยซ์นั้น นอกจากผู้ชมจะสนใจชมความสามารถของนักร้องที่เข้าประกวดเป็นหลักแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวโค้ชเองก็มีบทบาทที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เข้าแข่งขัน เพราะทางรายการต้องสรรหาศิลปินมืออาชีพที่มีความเก่ง เด่นดัง รูปร่างหน้าตาดีมาทำหน้าที่โค้ชเพื่อสร้างศิลปินรุ่นต่อไปและมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ชมให้ติดตามดูรายการด้วย

ศิลปินบางคนอาจจะเก่งจริง แต่ถ้าไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนดูก็จะไม่ได้มาเป็นโค้ช หรือเป็นได้ไม่กี่ฤดูกาลก็ต้องจากไป แต่สำหรับฟาร์เรลล์ที่ในเรื่องของรูปร่างหน้าตาออกจะธรรมดาๆ แต่เป็นโค้ชที่เก่งกาจไม่ธรรมดา มีความสามารถหลากหลายในเรื่องดนตรีและการทำธุรกิจ และมีบุคลิกภาพตลอดจนค่านิยมที่สร้างเสน่ห์ให้กับเจ้าตัวได้ไม่แพ้เบลคและแอดัมเลยค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถที่หลากหลายของเขานี่เองที่ทำให้ดิฉันอยากคุยเรื่องของศิลปินคนนี้ในฐานะผู้นำที่มีบทเรียนดีๆให้กับผู้นำทั้งในและนอกวงการเพลงได้ ไม่เชื่อตามมาอ่านกันต่อเลยค่ะ

มั่นใจในตัวเอง สร้างสรรค์ ถ่อมตัว (Confidence, Creativity, and Humility) ในด้านประวัติส่วนตัว ฟาร์เรลล์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1973 เป็นโปรดิวเซอร์ นักร้อง แร็ปเปอร์ นักแต่งเพลง นักธุรกิจ นักออกแบบแฟชั่น เป็นโค้ชและ นักสเก็ตบอร์ด นอกจากจะแต่งเพลงให้ตัวเองดังแล้ว เขายังแต่งเพลงให้ศิลปินดังคนอื่นๆอีก เช่น บียอนเซ่ จัสติน ทิมเบอร์เลค จัสติน บีเบอร์ รอบิน ธิค เกวน สเตฟานี ดาฟต์ พังค์ ฯลฯ เมื่อปลายปี 2557นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งเป็นนิตยสารธุรกิจระดับโลกได้ลงพิมพ์บทวิเคราะห์เกี่ยวกับความสำเร็จของฟาร์เรลล์ที่มีรายได้มหาศาลโดยเรียกเขาว่าเป็น “Little Mogul” (เจ้าพ่อนักธุรกิจตัวน้อย) และเป็น “Mega Producer” (ผู้ผลิตงานดนตรีเงินล้าน ระดับเมกะโปรเจ็คต์)

คาร์มีน กัลโล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการพัฒนาภาวะผู้นำได้เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับฟาร์เรลล์ให้นิตยสารฟอร์บส์ได้ทำการวิเคราะห์ถึงปัจจัยหลายๆอย่างที่สร้างความสำเร็จให้กับศิลปินผู้นี้ เขาชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จและความเป็นผู้นำของฟาร์เรลล์ในอุตสาหกรรมดนตรีนั้นมีรากฐานอยู่บนคุณสมบัติสำคัญ3ประการ คือ มีความมั่นใจในตัวเองแบบพอดีๆ (ไม่มากไปจนอาจกลายเป็นหลงตัวเอง) มีความคิดสร้างสรรค์ที่สะท้อนออกมาให้เห็นในผลงานแต่งเพลงและมิวสิคของเขา

ทั้งนี้ศิลปินส่วนใหญ่จะมีคุณสมบัติ 2 ประการที่กล่าวมานี้เป็นพื้นฐาน แต่มักจะขาดข้อที่ 3 ที่คาร์มีนระบุว่าคือคุณสมบัติข้อสำคัญที่สุดของยอดศิลปินคนนี้ นั่นก็คือการเปิดใจรับฟังความเห็นและคำแนะนำของผู้อื่นอย่างถ่อมตน สิ่งที่ฟาร์เรลล์กล่าวอยู่เสมอๆและปฏิบัติตามที่ตัวเองพูดอย่างจริงจังคือ “ผมรับฟังคำแนะนำ” (I’m open to suggestions) คำพูดภาษาอังกฤษเพียง 4คำนี้เองที่ไขความกระจ่างให้เราทราบว่าการเปิดรับฟังคำวิจารณ์และคำแนะนำอย่างจริงใจทำให้ผู้ชายคนนี้สร้างผลงานที่พิเศษสุดออกมาได้

ฟาร์เรลล์ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อเขารับงานแต่งเพลงให้กับภาพยนต์แอนิเมชั่นเรื่อง “Despicable Me 2” นั้น โจทย์ที่ได้รับคือเขาต้องแต่งเพลงให้กับตัวละครนำที่เป็นตัวร้าย ชื่อ “กรู” (Gru) โดยเพลงนั้นจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงความอิ่มเอมใจที่เกิดจากการค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยร้ายกาจแสนสาหัส(Super bad)มาเป็นพ่อที่แสนดี (Super dad)นั้นนำความสุขมาให้ตนเองอย่างไร ฟาร์เรลล์ใช้เวลาในการแต่งเพลงเพื่อตอบโจทย์นี้โดยแต่งแล้ว แต่งอีก แต่งแล้ว แต่งอีก ซึ่งนับแต่เวอร์ชั่นแรกที่ออกมา เพื่อนร่วมงานของเขาได้วิจารณ์ว่า “ก็ใช้ได้ ใกล้เคียงเลยนะ แต่ยังไม่โดน...” ซึ่งเมื่อได้รับคำวิจารณ์เช่นนี้ แทนที่จะโกรธไม่พอใจ ดึงดันที่จะให้คนอื่นยอมรับผลงานของตน (แบบที่ศิลปินดังๆบางคนอาจทำเพราะหลงตัวเองว่าเก่งที่สุด) ฟาร์เรลล์ก็กลับไปแก้ไข แก้แล้วแก้อีกอย่างที่ว่าอยู่หลายครั้งจนออกมาเป็นเพลง “Happy” ในเวอร์ชั่นที่สิบที่เพื่อนบอกว่า “โดนแล้ว” นั่นแหละเขาจึงพอใจ

ผลงานชิ้นนี้บรรจุอยู่ในอัลบั้ม “Girl” ที่ทำให้เขาได้รับรางวัล บีบีซี มิวสิคอวอร์ดในปี 2557และกวาดรางวัลแกรมมี่ไปอีกในปีต่อมา หากใครไม่เคยฟังเพลง “Happy” ของเขา ขอแนะนำให้เข้า Youtube ไปลองฟังและชมมิวสิควีดีโอของฟาร์เรลล์ดู ดิฉันชอบทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และท่าเต้นหมดเลยค่ะ มิวสิควีดีโอชุดนี้มีคนชมหลายล้านคนทั่วโลกและมีคนหลายชาติแปลงเนื้อร้องไปเต้นรำให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนซึ่งเข้าข่ายการลอกเลียนผลงาน แต่ฟาร์เรลล์ก็ไม่ยักโกรธ แถมปลื้มใจจนน้ำตาไหลเมื่อโอปราห์ วินฟรีย์เปิดคลิปให้เขาชมระหว่างสัมภาษณ์ในรายการของเธอ เขาดีใจที่เพลงของเขาทำให้ทุกคนร่วม “แฮปปี้” ไปกับเขาได้มากขนาดนั้น

ทั้งนี้เมื่อเขาให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังความสำเร็จของซิงเกิ้ล “Happy” ฟาร์เรลล์ยกความดีให้กับเพื่อนร่วมงานของเขาที่กดดันและผลักดันให้เขาปรับปรุงแก้ไขงานจนได้รางวัล และเมื่อคนถามว่าทำไมไม่ให้เครดิตกับตัวเองบ้างเลยล่ะ เขาได้ตอบว่า “ผมคงให้เครดิตตัวเองไม่ได้ เพราะผมไม่ได้เป็นคนผลักดันตัวผมเองให้แก้งาน เพื่อนผมเป็นคนผลักดัน ผู้สร้างภาพยนต์นี้เป็นคนให้คำวิจารณ์และผลักดัน หัวหน้าผู้ควบคุมเพลงประกอบภาพยนต์นี้ก็เป็นคนผลักดัน เพราะคนเหล่านี้เป็นคนช่วยผลักดัน พวกเขาจึงมีส่วนเป็นเจ้าของเพลงนี้เท่าๆกับผม” คำตอบของฟาร์เรลล์ฟังดูดีมากใช่ไหมคะ ซึ่งหลายคนรวมถึงดิฉันเองคงอดนึกสงสัยไม่ได้ว่าเขามีความจริงใจมากแค่ไหนกับการถ่อมตัวและยกย่องให้เกียรติคนอื่น เขาอาจจะพูดให้ตัวเองดูดีก็เป็นได้ เราคงไม่สามารถมองเข้าไปเห็นก้นลึกของหัวใจของเขา

คาร์มีนผู้เขียนบทวิเคราะห์เรื่องของฟาร์เรลล์ให้กับฟอร์บส์ได้ศึกษาทำการการบ้านมาอย่างดี โดยคาร์มีนได้ดูเทปสัมภาษณ์ศิลปินคนนี้หลายรายการจนมองเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ออกรายการต่างๆ จะได้เห็นฟาร์เรลล์มีการแสดงออกทางคำพูดและท่าทางที่ถ่อมตัวเสมอ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันเห็นด้วยมากค่ะ ดิฉันไม่เคยรู้จักฟาร์เรลล์ เคยได้ยินเพลงแต่ก็ไม่เคยสนใจจะรู้จักหน้า จนมาดูรายการเดอะวอยซ์อเมริกาที่ฟาร์เรลล์มาทำหน้าที่แทนซีโล กรีน ครั้งแรกที่เห็นหน้าฟาร์เรลล์ดิฉันก็ไม่ได้สนใจมากมาย(เพราะความหล่อของเบลคและแอดัมกลบเสียมิด) แต่ยิ่งดูไปๆก็ยิ่งชอบจนอาจกล่าวได้ว่าฟาร์เรลล์มีเสน่ห์บารมี (Charisma)มากกว่าเบลคและแอดัมยังได้ บุคลิกของฟาร์เรลล์เป็นคนพูดจานุ่มนวล เสียงไม่ดังมาก ตัวผอมๆ แต่งตัวเด็กแนว (ก็แนวของเขาเองแหละ เพราะเขาเป็นนักออกแบบแฟชั่นด้วย) เวลาวิจารณ์นักร้องผู้สมัครแต่ละคน เขาจะวิจารณ์อย่างมีหลักเกณฑ์ สุภาพ ให้กำลังใจ เป็นคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ไม่เหมือนคอมเมนเตเตอร์บางคนของรายการประเภทนี้ที่วิจารณ์แบบมันปากสะใจตัวเอง กะเรียกเสียงฮาโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้ถูกวิจารณ์ ในหลายๆโอกาสดิฉันเคยเห็นฟาร์เรลล์ชมผู้สมัครที่ร้องเพลงได้ดีมากๆว่า “คุณเสียงดีมาก ร้องเยี่ยมมาก ผมยังร้องแบบนี้ไม่ได้เลยครับ น่าทึ่งจริงๆ”  

นอกจากความเห็นจากนักวิเคราะห์และดิฉันแล้ว ลองมาฟังความเห็นของคนที่ทำงานร่วมกับเขาดูบ้างนะคะ “ชากิรา” ซุปเปอร์สตาร์ชาวโคลอมเบียนพูดถึงฟาร์เรลล์ว่า “เขาเป็นคนที่สนใจใคร่เรียนรู้” ซึ่งทำให้งานของเขามีความสร้างสรรค์เสมอ เกวน สเตฟานี กล่าวว่า “แม้ว่าเขา (ฟาร์เรลล์) จะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง แต่ไม่เคยหยุดเรียนรู้ เขาเป็นคนผู้ที่มองโลกในแง่บวก เป็นคนที่ซาบซึ้งในบุญคุณของคนอื่น ถ่อมตัว และติดดินเสมอ” อีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ชื่นชมฟาร์เรลล์ก็คือ เอลเล็น เดอเจเนอเรสที่บอกว่าเขาเป็นคน “ใจดีและถ่อมตัว”

ยังไม่พอค่ะ ยังมีทีเด็ดอีก โดยนอกจากคาร์มีนเขาจะทำการค้นหาข้อมูลจากคลิปต่างๆเพื่อศึกษาสังเกตพฤติกรรมการถ่อมตัวของฟาร์เรลล์แล้ว เขายังทดลอง”เสิร์ช” (search) หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตโดยใช้คำว่า “ฟาร์เรลล์ + ถ่อมตัว” ด้วย ซึ่งปรากฏว่าพบข้อเขียนถึง 500,000 แสนชิ้นที่เขียนถึงความถ่อมตนของฟาร์เรลล์โดยมีบทความชิ้นหนึ่งเขียนว่า “ฟาร์เรลล์เป็นมนุษย์ที่มีความถ่อมตัวมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง” ซึ่งคุณสมบัติเรื่องความถ่อมตัวนี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำอย่างคาร์มีนบอกว่ามันเป็นคุณสมบัติที่แบ่งแยกระหว่างผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างได้จากผู้นำที่ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ

มีหลักฐานยืนยันในความใฝ่เรียนรู้ สร้างสรรค์และถ่อมตัวเช่นนี้เราคงเชื่อได้ว่าการถ่อมตนเป็นคุณสมบัติที่ดีที่ผู้นำทุกระดับทุกวงการพึงมี เพราะมันทำให้เขาสามารถทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจกับคนรอบข้างได้อย่างสนิทใจ ผู้นำที่มองเห็นข้อดีของคนอื่นและรู้จักยกย่องให้เกียรติพวกเขาคือคนที่ในเบื้องลึกไม่มีปมด้อย มั่นใจในตัวเอง และจะเป็นที่ชื่นชมยอมรับของคนรอบข้างมากกว่าผู้นำที่มีอัตตาสูง หลงตัวเองไม่ฟังเสียงคนอื่นแน่นอนค่ะ

ท้ายนี้มีข่าวดีๆฝากปชส. ศศินทร์จะจัดเวิร์คช้อปสำหรับผู้บริหารระดับกลางถึงสูงหัวข้อ “Essentials for High-impact Leadership” (ทักษะสำคัญสำหรับผู้นำสร้างผลงานสูง) ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน โดยมีดิฉันและดร. แอนเดรียส ลีฟูกห์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนร่วมเป็นวิทยากร สนใจดูรายละเอียดได้ที่ [email protected] หรือโทร. 02-218-4004-8 ต่อ 164-167