หมดยาแรงอสังหาฯ คนไข้ฟื้นหรือ'ดื้อยา'

หมดยาแรงอสังหาฯ คนไข้ฟื้นหรือ'ดื้อยา'

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นภาคธุรกิจที่ “ภาครัฐ”

 ให้ความสนใจ ในการผลักดันยอดขาย ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เกิดภาวะ “ชะลอซื้อ” จากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ

เนื่องด้วยมูลค่าตลาดรวมอสังหาฯ กว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่น้อย

ที่ผ่านมา รัฐจึงไม่อาจนิ่งนอนใจ อัด ยาแรง กระตุ้นอสังหาฯ เร่ง การตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ผ่านหลายมาตรการ  

โดยมาตรการที่ประกาศออกมาในช่วงปลาย 2558 ได้แก่

1. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดย ธอส. จะกำหนดวงเงินให้กู้ต่อราย อัตราดอกเบี้ย และเงินที่ชำระในแต่ละงวดแบบผ่อนปรน เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้มีรายได้สุทธิต่อเดือนต่ำว่า 3 หมื่นบาท รวมทั้งผู้ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

2. มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง เหลือ 0.01% จากเดิมค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดอยู่ที่ 2% ของราคาประเมินในกรณีโอน และ1% ของมูลค่าที่จดจำนอง เป็นเวลา 6 เดือน หรือให้โอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 28 เม.ย.2559

3. มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา สำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยนำค่าใช้จ่ายที่ซื้ออสังหาฯระหว่างวันที่ 13 ต.ค.2558 -31 ธ.ค.2559 และต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่องกันเป็นจำนวนไม่เกิน 20% ของมูลค่าอสังหาฯ

มาถึงปี 2559 รัฐยังออกมาตรการเพิ่มเติม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อเดือนมี.ค.เห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐ เฟสแรก ให้สถาบันการเงินของรัฐ 3แห่ง คือ ธอส. ออมสิน และกรุงไทย ให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน หรือดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท ทั้งสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท แยกเป็นธนาคารละ 1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท แยกเป็น ออมสิน 2 หมื่นล้านบาท และธอส. 2หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี

โครงการนี้มีเงื่อนไขสำคัญคือ หากเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องทำโครงการที่มีราคาขายต่อยูนิตไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และหากเป็นการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็จะต้องมีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อยูนิตเช่นเดียวกัน เพราะมาตรการนี้ออกมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ทั้งกลุ่มที่มีรายได้ประจำ รวมถึงกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือมีอาชีพอิสระ ซึ่งไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯมาก่อน สามารถมีบ้าน “หลังแรก” ได้

มาดูผลลัพธ์ของบางมาตรการ ล่าสุด กรมที่ดิน ระบุว่า หลังจบมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองไปเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 เม.ย. พบว่า มีผู้มาใช้บริการรวม 349,324 ราย  โดยประเมินว่าสิ้นสุดมาตรการฯจะมีผู้มาใช้บริการสำนักงานที่ดินทั่วประเทศรวมกว่า 432,000 ราย

ในฟากของการขอสินเชื่อผ่านธอส. ข้อมูล ณ 21 มี.ค.2559 พบว่า ธอส.ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 15,077 ราย วงเงินอนุมัติ 20,866 ล้านบาท

ขณะที่โครงการบ้านประชารัฐ เปิดตัววันแรกเมื่อ 23 มี.ค. พบว่า มีประชาชนสนใจมายื่นกู้ เฉลี่ยทั้ง 2 ธนาคาร (ออมสิน และกรุงไทย) รวมกันวันละประมาณ 5 พันล้านบาท ส่งผลให้วงเงินการขอใช้สิทธิ์กู้ในโครงการนี้ เต็มวงเงินภายในเวลากว่า 1 สัปดาห์ ในส่วนธอส. ข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย. พบว่า มีประชาชนยื่นความประสงค์ขอกู้แล้ว 20,057 ราย คิดเป็นวงเงิน 16,809 ล้านบาท

ถามว่า.. เมื่อยาแรงเข็มแรก (ลดค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง) ถูกใช้หมดไปแล้ว ธุรกิจอสังหาฯจะเป็นอย่างไร

ผู้ประกอบการอสังหาฯ ประเมินว่า ไตรมาสสอง จะเริ่มโตแผ่ว และคาดว่าภาพรวมตลาดทั้งปีเติบโต ราว 5% ซึ่งถือว่าเติบโตไม่เท่าที่เคยโต แต่ไม่ถึงขั้นติดลบ

คงต้องรอลุ้นผลลัพธ์ของอีกหลายมาตรการอสังหาฯ ที่ยังไม่ครบกำหนด

ว่าที่สุดแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ?

หรือยาแรงที่ใช้ คนไข้จะเริ่ม ดื้อยา จากข้อกังวลปัญหา “หนี้ครัวเรือน” และ “การก่อตัวของฟองสบู่อสังหาฯ” ในมุมของสถาบันการเงินสะท้อนออกมาบ่อยครั้ง