ปัญหาความไว้วางใจ

ปัญหาความไว้วางใจ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง

(กกต.) ได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินการ และการเตรียมความพร้อม ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกกต.ได้ออกประกาศข้อห้าม“อะไรทำได้” และ“อะไรทำไม่ได้” ซึ่งนายสมชัยระบุว่ากกต.ยึดหลักการและวิธีการ โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ให้ประชาชนออกเสียงโดยสุจริต ไม่ขัดหลักกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.การเสนอข้อมูลต้องไม่เป็นเรื่องเท็จ และไม่นำมาขยายต่อ 2.ถ้อยคำที่นำเสนอไม่ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง และ 3.ไม่นำเสนอไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง

ประกาศของกกต.ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง บางคนเห็นว่าเป็นประกาศที่กว้างเกินไปและมากแก่การตีความว่าอะไรที่ทำได้หรือไม่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงอย่างมากที่จะถูกกล่าวหา ว่ามีความผิดหากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่บางคนก็เห็นว่าเป็นความพยายามควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)โดยผ่านกกต. เพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่หากพิจารณาประกาศของกกต.อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีคติทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็อาจเป็นไปได้ว่าหลักการของกกต.เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตย

เพราะในระบอบประชาธิปไตยที่มีเหตุมีผลแล้ว หลักการของกกต.ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เขาประพฤติปฏิบัติกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือจะต้องตีความเป็นอย่างอื่นไปได้จากประกาศของกกต. ซึ่งหากประชาชนยึดหลักประชาธิปไตยและมีความเข้าใจจริงๆแล้ว กกต.ก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศและกำหนดโทษสำหรับผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน เพราะสิ่งที่กกต.ประกาศห้ามไปนั้นล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสังคมประชาธิปไตยทั้่งสิ้น และไม่น่าจะเป็นประเด็นที่มากไปกว่านี้

แต่ประเด็นสำคัญในขณะนี้ คือ ในเมื่อมีความเห็นต่างจากประกาศของกกต.จากหลายฝ่ายและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในบรรดาคอการเมืองนั้น จึงจำเป็นต้องแยกแยะถึงเหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเป้าหมายอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากกระแสคัดค้านในกรณีของประชามติคือเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างคนไทยด้วยกัน ต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาเดิมๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นคือความขัดแย้งทางความคิดเห็นแบบสุดขั้ว จนมองว่าข้อเสนอฝ่ายอื่นล้วนมีปัญหา และมีแต่ของกลุ่มตัวเองดีที่สุดเท่านั้น

ดังนั้นหากมองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ประกาศของกกต. ซึ่งต่อเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าสังคมไทยในช่วงเกือบ 2 ปีตั้งแต่มีการรัฐประหารนั้น ยังติดกับดักปัญหาเดิม นั่งคือ ปัญหาความไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้โดยง่าย และอาจสะท้อนว่ารัฐบาลและคสช.ที่พยายามสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายด้วยการขอให้หยุดการเคลื่อนไหวและออกกติกาประเทศมาใหม่นั้นยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาความไว้เนื้อเชื่อใจกันนั้นเป็นเรื่องต้องใช้เวลาในการแก้ไข

เราเห็นว่าจากปัญหาความไว้ไจระหว่างกันของคนไทยด้วยกันเอง ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าฝ่ายใดจะเสนออะไรก็มักจะถูกมองด้วยความสงสัยเสมอ ดังนั้นเราเชื่อว่าปัญหานี้ยังหลอกหลอนคนไทยไปอีกนานพอสมควร และยิ่งฝ่ายการเมืองหลายคนมีคดีติดตัวก็ยิ่งทำให้การสร้างความไว้วางใจเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งผลสุดท้ายสิ่งนี้เองจะเป็นตัวบั่นทอนประชาธิปไตยของคนไทย หาใช่เรื่องกฏระเบียบหรือกติกาทางการเมืองที่พยายามหาขึ้นมาแก้วิกฤติในอดีต