'คสช.' ไม่ได้มีแค่อำนาจ

'คสช.' ไม่ได้มีแค่อำนาจ

มีโอกาสได้คุยกับผู้สันทัดกรณีทางการเมือง

 ทำให้ได้ข้อสรุปบางอย่างเกี่ยวกับ “คสช.”(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ว่าไม่ได้มีแค่อำนาจ เหมือนการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่มีแค่อำนาจ โดยมีกองทัพหนุนหลังเป็นสำคัญ

ยิ่งกว่านั้น การทำรัฐประหารส่วนใหญ่ เป็นการมุ่งล้มล้างอำนาจทางการเมืองการปกครอง ของกลุ่มอำนาจที่เป็นรัฐบาลอยู่ เท่านั้น

แต่สำหรับ “คสช.” มีความพิเศษ ที่ “บิ๊กตู่”พล.อ.  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า “คสช.” กล้ากล่าวอ้างอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มี “คสช.” เข้ามา ป่านนี้บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ลองนึกถึงก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดูว่าก่อนหน้านั้น บ้านเมืองเป็นอยู่อย่างไร

ความหมายก็คือ ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 หรือ ก่อนการรัฐประหาร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเมืองไทยมีความขัดแย้งอย่างสูง ประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง แบ่งออกเป็น “สองขั้วขัดแย้ง คือ ฝ่ายไม่เอา “ระบอบทักษิณ ในนามของ “มวลมหาประชาชน ภายใต้การนำของ “กปปส. ( คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กับฝ่ายนิยม “ทักษิณ” คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และนปช. (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) และประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

การชุมนุมอย่างยาวนานของ กปปส. และมวลมหาประชาชนที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกวัน ในที่สุดมีการตั้งเป้าหมายในการชุมนุมเอาไว้ค่อนข้างสูง คือ ปฏิวัติด้วยประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฏฐาธิปัตย์ ในการปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้ง โดยอ้างว่าการเมืองใน “ระบอบทักษิณ” เป็นการเมืองเพื่อช่วยให้ “ทักษิณ” พ้นผิด และเอื้อให้กลุ่มอำนาจทางการเมืองมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเห็นได้ชัด

จุดวิกฤติก็คือ ขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยืนยันที่จะให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมาย หลังยุบสภา แต่ กปปส. ต่อต้านอย่างหนัก มีความวุ่นวาย จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ยังเกิดเหตุปะทะกับทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มคนที่ใช้อาวุธสงครามโจมตีหลายต่อหลายครั้ง จนมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

จนเป็นเหตุให้กองทัพประกาศกฎอัยการศึก และเอาแกนนำมาเจรจาตกลงกัน เพื่อคืนความสงบให้บ้านเมือง แต่ผลก็คือ ต่างฝ่ายต่างยืนยันในแนวทางตนจนยากเจรจากันได้ แล้วก็นำมาสู่การยึดอำนาจของ คสช.ในที่สุด

จากที่มาดังกล่าว จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะใกล้เคียงกับเมื่อปี2549ก็ตาม แต่ครั้งนี้มีความชัดเจนว่า “คสช.” ต้องการเข้ามาเพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติเป็นการชั่วคราว โดยมีโรดแม็พที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง เป็นสัญญาประชาคม ขณะเดียวกันก็ต้องการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

แน่นอน แนวทางของ “คสช.” ย่อมสอดคล้องไม่มากก็น้อยกับประชาชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ กปปส. ซึ่งต่อมา ถ้าฟังจาก “ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณแกนนำ กปปส. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ ก็สนับสนุนแนวทางของ “คสช.” มาตลอด ยิ่งกว่านั้น การที่ “คสช.” มุ่งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ของนักการเมือง ก็ยิ่งโดนใจผู้คนจำนวนมากที่เบื่อหน่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ยิ่งกว่าจะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

นี่คือ สิ่งบ่งบอกว่า “คสช.” ไม่ได้มีแค่อำนาจ เหมือนช่วงที่มีการรัฐประหารยุคอื่น และที่สำคัญ “คสช.” มีฐานมวลชนรองรับไม่แพ้ฝ่ายการเมือง ทั้งยังสามารถจำกัดกลุ่มต่อต้าน “คสช.” เอาไว้แค่ขาประจำ ที่ต่อต้านมาตั้งแต่วันที่22พฤษภาคม2557ซึ่งก็คือ กลุ่มสูญเสียอำนาจใน “ระบอบทักษิณ” นั่นเอง

ทำให้ได้ “คำตอบ” ของคำถามที่ว่า ทำไม “คสช.” กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่อาจปลุกกระแสลุกฮือขึ้นได้ อย่าง การร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยของฝ่ายการเมือง การไล่บี้กลุ่มต่อต้าน ทั้งปรับทัศนคติและจับกุม ทั้้งที่อาจเป็น “เงื่อนไข” ให้ความขัดแย้งบานปลายอย่างที่เป็นอยู่...แต่ก็ไม่อาจทำได้เหมือน พฤษภาทมิฬ

คำตอบ ก็คือ ถ้าเป็นฝ่าย “ทักษิณ” ย่อมถูกต่อต้านจากกลุ่มที่ไม่ชอบ “ทักษิณ” ทันที ถ้าไม่เอาด้วยกับ “คสช.” ก็ไม่ร่วมกับ “ทักษิณ”

เรียกได้ว่า คสช.เอาอยู่ และเป็นผู้กำหนดเกมเรียบร้อย