คนสิงคโปร์ มองสิงคโปร์ 50 ปีจากนี้

คนสิงคโปร์ มองสิงคโปร์ 50 ปีจากนี้

ผมเข้าร้านหนังสือที่สิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้

เจอหนังสือเล่มนี้รีบซื้อมาอ่านทันที เพราะหัวข้อ สิงคโปร์ในอีก 50 ปีข้างหน้า ดึงดูดความสนใจของผมเป็นพิเศษ

ประกอบกับชื่อเจ้าของเรื่องคือคนที่ผมรู้จักมาก่อน

โฮ กวน ปิง เป็นประธานบริหารของบริษัท Banyan Tree Holdings ซึ่งมีเครือข่ายโรงแรมทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

เขาเกิดที่ฮ่องกงแต่โตในเมืองไทยเพราะคุณพ่อ Ho Rih Hwa เป็นเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย

ตอนหนุ่มวัย 20 เศษ ๆ เขาเป็นนักข่าวของนิตยสาร Far Eastern Economic Review (FEER) และเคยถูกนายกฯลีกวนยิวสมัยนั้นสั่งจำคุก 2 เดือนในปี 1977 ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน ฐานเขียนบทความที่ถูกกล่าวหาว่าเอนเอียงไปทางคอมมิวนิสต์

โฮ กวน ปิง ปีนี้อายุ 64 เล่าให้นักข่าวฟังว่าเขาเคยสมัครงาน The Nation และผมสัมภาษณ์เขา แต่เมื่อผ่านสัมภาษณ์แล้วเขาบอกว่าเงินเดือนไม่พอกินอยู่ จึงไม่ได้มาทำงาน หาไม่แล้ว ชีวิตคงจะแปรผันไปอีกทางหนึ่งแน่นอน

เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ทางด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในปี 1978 และเข้าทำงานธุรกิจของครอบครัวในปี 1981 ก่อนเริ่มธุรกิจโรงแรมภายใต้ชื่อ Banyan Tree ในช่วงปี 1990s

โฮ กวน ปิงเป็นหนึ่งในแกนร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งที่สามของสิงคโปร์คือ Singapore Management University (SMU) ซึ่งเขาเป็นประธานสภาฯอยู่ขณะนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมปาฐกถาเป็นชุด ห้าตอนของเขาภายใต้โครงการ IPS-S R Nathan Lecture Series ในช่วงหกเดือนระหว่าง ต.ค.2014 ถึงเม.ย.2015 โดยที่เล็กเช่อร์สุดท้ายมีขึ้นหลังการจากไปของอดีตนายกฯลีกวนยิวแล้ว

โฮ กวน ปิงวิเคราะห์สังคมสิงคโปร์เกือบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ไปจนถึงความมั่นคง และวิถีชีวิตที่จะน่าจะเป็นไปใน 50 ปีข้างหน้าอย่างน่าสนใจ

เขามองว่าความสำเร็จในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจะต้องปรับเปลี่ยน ตามกาลสมัยและสถานการณ์รอบด้าน และการเมืองจะต้องเปิดกว้างขึ้นกว่าที่ผ่านมา แม้จะต้องสละเสียซึ่งมาตรฐานแห่งประสิทธิภาพของการบริหารประเทศบ้าง

เขาบอกว่า “สังคมของเราจะก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไปก็ต่อเมื่อปัญญาชน สมาชิกภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปจะเข้ามาร่วมในตลาดความคิดเห็นอันเสรี และพร้อมจะให้ความคิดเห็นและพวกเขาเองตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบสาธารณะ และแม้จะถูกเย้ยหยันบ้างด้วยซ้ำไป เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายของการได้มาซึ่งสังคมที่ดีขึ้น”

โฮ กวน ปิงสรุปความเห็นของเขาไว้น่าฟังว่า

“ในอีก 50 ปีข้างหน้า – สิงคโปร์หลังลีกวนยิว – เส้นแบ่งระหว่างผู้นำกับผู้ตามจะเริ่มพร่ามัวขึ้น เราจะไม่เป็นเพียงผู้ตามที่ถูกกำหนดโดยวินัยและไร้การตั้งคำถาม ผู้นำของเราจะเดินเคียงข้างกับเรา ไม่ใช่เดินนำหน้า พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาระดับชาติ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้นำการสนทนาเท่านั้น...”

เขาบอกต่อว่า

ผมหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนจากรุ่นถึงรุ่นต่อไป คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศนี้ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง มีความภาคภูมิใจในความเป็นเราทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตและมีความปิติกับความหลากหลายที่สร้างความยึดเหนี่ยว (cohesive diversity) ให้กับสังคมที่ทำให้เราเป็นชาวสิงคโปร์ ไม่ว่าคำนี้จะมีความหมายต่อเราแต่ละคนอย่างไรก็ตาม....”

ดูเหมือนโฮ กวน ปิงจะเน้นเรื่องความหลากหลายและท่วงทำนองเสียงที่แปลกแตกต่างกับ “ตลาดเสรีแห่งความเห็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ” (exciting market place of ideas) มากในการสร้างความเป็นปึกแผ่น และความก้าวหน้าทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจให้กับสิงคโปร์

ที่มีความหมายเป็นพิเศษคือที่มาของชื่อหนังสือ “The Ocean in a Drop” ที่ผมเลือกจะแปลว่า มหาสมุทรในหนึ่งหยด

เขาอ้างกวีชาวเปอร์เซียยุคศตวรรษที่ 13 ชื่อ Rumi ที่เคยเขียนเอาไว้

“You are not a drop in the ocean. You are the entire ocean, in a drop.”

คุณไม่ใช่หยดหนึ่งของมหาสมุทร คุณคือมหาสมุทรทั้งมวลในหนึ่งหยด

โฮ กวน ปิงบอกว่าเหมาะที่จะอธิบายความเป็นคนสิงคโปร์วันนี้มาก

นั่นคือ “คุณกับผมไม่ใช่เพียงแค่ฟันเฟืองย่อย ๆ ของเครื่องจักรชิ้นใหญ่ ไม่ใช่เป็นเพียงเมล็ดข้าวหรือเม็ดทรายย่อย ๆ หรือเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรเท่านั้น เราต่างก็คือทั้งมวลของสิงคโปร์ เราแต่ละคนเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ที่รวมกันเป็นมหาสมุทรใหญ่... อันจะเป็นจุดที่เราจะประสานกันเพื่อเดินทางร่วมกันต่อไป...”

ผมเล่าให้เพื่อนคนไทยฟังว่าสิงคโปร์เขากำลังคิดถึงภาพใหญ่ของประเทศในอีก 50 ปีข้างหน้ากันแล้ว

เพื่อนผมหัวเราะ บอกว่า ของไทยเรา ปีหน้ายังไม่รู้ว่าเป็นจะลูกผีลูกคนเลย”!