แนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น(1)

แนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น(1)

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ราคาหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

เริ่มมีการคาดการณ์กันอีกครั้งว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐจะปรับขึ้นไปสูงกว่าจุดสูดสุดที่ได้เคยทำไว้ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ย่ำแย่ลงกว่าเดิม คำถามคือแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไร และเป็นการปรับตัวดีขึ้นที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

บางคนนำเอาการฟื้นตัวของราคาหุ้นไปเปรียบเทียบกับการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้พยายามติดตามดูเหตุการณ์ว่าประเทศกลุ่มโอเปกกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่อยู่นอกโอเปก (คือรัสเซียเป็นหลัก) นั้นจะสามารถเจรจาตกลงกำหนดเพดานการผลิตได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาหลักคือความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน กล่าวคืออิหร่านต้องการเพิ่มการผลิตหลังจากสหรัฐและประเทศหลักในสหประชาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยอิหร่านอยากเพิ่มการผลิตอีกเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อให้กลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรดังกล่าว

แต่ซาอุดิอาระเบียนำโดยรองมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่ยอมและยืนยันว่าหากทำข้อตกลงกำหนดเพดานการผลิตก็จะต้องรวมถึงอิหร่านด้วย โดยแถมท้ายว่าซาอุดิอาระเบียนั้นสามารถเพิ่มการผลิตได้ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในทันที (โดยประเมินว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ผมเข้าใจว่ายังมีหลายฝ่ายเฝ้าติดตามความพยายามที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะประชุมปรึกษาหารือกันต่อไป และคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถหาข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งนี้เสียงส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า หากรอเวลาต่อไปอีกประมาณ 3-4 เดือนอุปสงค์ก็จะขยายตัวมาใกล้เคียงกับอุปทาน (ตอนนี้ประเมินกันว่ามีการผลิตเกินความต้องการประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และความต้องการน้ำมันจะเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เพราะสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วกำลังเข้าสู่ฤดูการขับรถและเดินทางเพื่อการพักร้อนประจำปี (เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม) และในช่วงหลังที่น้ำมันราคาถูกและมีการปล่อยสินเชื่อกันอย่างแข็งขันในสหรัฐนั้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อรถยนต์ใหม่ได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถเอสยูวีที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมันมาก กล่าวโดยสรุปคือเสียงส่วนใหญ่มองว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากที่เฉลี่ยไม่ถึง 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และขยับมาเฉลี่ยประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวตามราคาน้ำมัน ทำให้บางคนอาจเข้าใจว่าน้ำมันราคายิ่งสูงก็จะยิ่งดีสำหรับเศรษฐกิจ ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งหากต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นความพยายามของผู้ผลิตน้ำมันที่จะ “ฮั้ว” กันลดการผลิตเพื่อดันราคาน้ำมันในตลาดโลกให้สูงขึ้นนั้น เสมือนกับการที่โรงสีทั่วประเทศไทยพยายามรวมตัวกันลดการสีข้าว ทำให้ปริมาณข้าวสารในตลาดลดลง ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์กับคนไทยที่เป็นผู้บริโภคข้าวอย่างแน่นอน

ไอเอ็มเอฟได้พยายามวิเคราะห์ว่าเหตุใดการปรับขึ้นของราคาน้ำมันจึงกลายเป็น ข่าวดีทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นและเกิดความมั่นใจว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว และได้ข้อสรุปว่าอาจเป็นไปได้ที่การปรับขึ้นของราคาน้ำมันนั้นจะทำให้ราคาสินค้าและบริการอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้า คือทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แปลว่าดอกเบี้ยนโยบายจริงของธนาคารกลางสหรัฐอยู่ที่ 0.25-0.50% ในขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป (CPI inflation) ประเมินว่าจะประมาณ 1.2% ในปีนี้ แปลว่าดอกเบี้ยจริงจะเท่ากับติดลบ 0.70-0.95% แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 2% ก็แปลว่าดอกเบี้ยนโยบายจริงลดลงไปอีกเป็นติดลบ 1.5-1.75% แปลว่าราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ตลาดมองว่าเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทางอ้อม เพราะธนาคารกลางเกือบทุกแห่งต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและไม่กลัวการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

ในทางตรงกันข้ามเวลาที่ราคาน้ำมันปรับลดลง อัตราเงินเฟ้อก็จะปรับตัวลดลงไปด้วย ทำให้ดอกเบี้ยจริงปรับสูงขึ้น เป็นผลทำให้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียสำหรับราคาหุ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันธนาคารกลางหลักของโลกก็ไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก เพราะดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ศูนย์แล้ว ในเมื่อพยายามปรับดอกเบี้ยลงไปให้ติดลบ ก็กำลังมีกระแสต่อต้านอย่างมากดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้ที่ญี่ปุ่นและที่รัฐมนตรีการคลังเยอรมันกล่าวโจมตีอีซีบีอย่างตรงไปตรงมาว่า สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ กระทบต่อรายได้ของครัวเรือน (ชาวบ้านที่พึ่งดอกเบี้ยเป็นรายได้) และก่อให้เกิดความแตกแยกในยุโรปและนายดรากี้ผู้ว่าการอีซีบีออกมาโต้กลับว่า “We have mandate for the whole Eurozone, not just Germany. We obey the law, not politicians. We are independent” ประเด็นคือการปรับดอกเบี้ยลงเพื่อผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้นทำไม่ได้แล้ว จึงอาจมีการมองกันว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเป็นประโยชน์เพราะเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินในทางอ้อม

ผมคิดว่าเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมยังเรียนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนั้น ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (ร่วมกับผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคือพอล วอคล์เกอร์) ประกาศในปี 1980 ว่าเงินเฟ้อคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง ของประเทศสหรัฐ แต่มาวันนี้ธนาคารกลางสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรปต่างแย่งกันหามาตรการทางเศรษฐกิจที่แหวกแนวนอกตำรา เพื่อกระตุ้นให้มีเงินเฟ้อเล็กน้อยก็ยังดี เพราะอีซีบีนั้นตั้งเป้าว่าอยากเห็นเงินเฟ้ออย่างน้อยประมาณ 2% ต่อปี แต่พลาดเป้าดังกล่าวมา 3 ปีติดต่อกันแล้ว ในปี 1980 นั้นดอกเบี้ยต้องปรับเพิ่มขึ้นถึง 20% เพื่อกดเงินเฟ้อที่สูงเกินกว่า 10% เกือบทุกประเทศในโลกติดต่อกันมาหลายปี เพราะโอเปกประสบความสำเร็จในการรวมหัวกันปรับขึ้นราคาน้ำมันจากประมาณ 3 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 1973 มาเป็น 40 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 1980

โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ในตอนต่อไปผมจะเขียนถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เข้าใจกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวดีขึ้นครับ