ฝรั่งไม่ซื้อ แต่เราซื้อ

ฝรั่งไม่ซื้อ แต่เราซื้อ

ถ้าคิดแบบฝรั่ง การค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตดูเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องมีหน้าร้านบนเว็บ มีระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์

ที่ปลอดภัย  มีระบบจัดส่งสินค้าที่ดูน่าเชื่อถือ ที่เมืองจีนก็มีร้านใหญ่โตบนอินเทอร์เน็ต และมีคนซื้อมากมายคล้ายๆ ฝรั่ง เพียงแต่ซื้อกันผ่านสมารท์โฟนมากกว่าที่จะซื้อผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งบ้านเรากลับไม่ค่อยตื่นเต้นกับร้านค้าอีเล็กทรอนิกส์แบบฝรั่งเท่าใดนัก จะมีนักซื้อกลุ่มสำคัญคือคนที่เคยผ่านประสบการณ์เมืองฝรั่งมาบ้าง จนคุ้นเคยกับการซื้อของผ่านร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์นี้ หรือเป็นกลุ่มที่มีสถานะการเงินดี มีบัตรเครดิต มีการใช้ระบบธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต

แม้ว่าระยะหลังๆ นี้จะมีห้างร้านต่างๆ หันมาเปิดร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่ก็วนกลับไปที่กลุ่มเดิมอีก เพียงแต่ย้ายกลับจากร้านฝรั่งมาเป็นร้านในบ้านเรา สถิติที่รวบรวมแบบฝรั่งเลยบอกว่าบ้านเราซื้อขายแบบอิเล็กทรอนิกส์กันน้อย คนใหญ่คนโตในบ้านเมืองก็เลยจัดส่งเสริมต่างๆ ให้มีการค้าขายกันแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งก็มีความพยายามนี้ตั้งแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการดิจิตอลยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ จนวันนี้เลยวัยเกษียณไปแล้ว ก็เห็นยังพยายามกันอยู่

แต่การค้าขายแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ก็ไม่ได้เติบโตมากมายอย่างที่คาดหวัง จะโตขึ้นบ้างก็โตตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี คือคนมีสมาร์ทโฟนมากขึ้น มีคนต่ออินเทอร์เน็ตเข้าบ้านกันมากขึ้น ฝรั่งก็สงสัยอยู่ว่าบ้านเราเองก็ท่าทางเป็นนักซื้อผู้ยิ่งใหญ่ แต่ทำไมร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่โตที่ทางการจัดให้กลับหาคนซื้อไม่ได้ จนกลายเป็นร้านร้างลูกค้าไปเลย

ฝรั่งงงมากขึ้นเมื่อพบว่าจำนวนผู้ใช้เครือข่ายสังคมต่างๆ ในบ้านเราสูงติดอันดับโลก สูงจนถึงขนาดว่าเดินเข้าไปในสำนักงานของบางหน่วยงาน ทุกหน้าจอไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ประจำหน่วยงานนั้น หรือสมาร์ทโฟนส่วนตัวต่างกำลังเปิดเครือข่ายสังคมตัวใดตัวหนึ่งใช้งานอยู่ ทำไมคนที่ใช้เครือข่ายสังคมอย่างเป็นสรณะ กลับมีการซื้อขายผ่านร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่มาก อยู่กับคอมพิวเตอร์ อยู่กับสมาร์ทโฟนทั้งวัน จะเอาแต่คุยสนทนา นินทาด่าทอกันไปเรื่อยๆ แค่นั้นหรือ ทำไมไม่แวะซื้อของตามร้านค้ากันบ้าง แค่กดไม่กี่ปุ่มก็ซื้อได้แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ คำตอบที่ฝรั่งสงสัยมานานก็ได้รับคำตอบ เมื่อมีบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งไปสุ่มตัวอย่างสำรวจดูว่าในการใช้เครือข่ายสังคมกันทั้งวันทั้งคืนนั้น นอกจากสนทนาสารพัดเรื่องกันแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นใดอีกบ้าง และพบว่าเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือการหารายละเอียดของที่อยากได้จากเครือข่ายสังคม และสุดท้ายเลยกลายเป็นการซื้อขายกันผ่านเครือข่ายสังคม แต่ไม่ใช่ซื้อขายกันแบบมีขั้นตอนมากมายในแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นแค่การเจรจาการค้าบนเครือข่ายสังคม แล้วเลือกสรรวิธีแลกเงิน แลกสินค้ากันตามแต่ที่ต่างฝ่ายต่างสะดวก ไม่ได้ไปใช้เครื่องมือค้าขายที่เฟสบุค ทวิตเตอร์ทำไว้ให้ใช้ค้าขาย แต่ค้าขายกันเหมือนกับคนที่มาเจอะเจอกันแล้วคนหนึ่งอยากได้ อีกคนหนึ่งอยากขาย เจอกัน คุยกัน แล้วก็ขายกันเอง จ่ายเงินกันเอง ส่งของกันเองไม่ได้ขายผ่านกลไกที่เครือข่ายสังคมนั้นจัดไว้ให้

ถ้าอยากหาที่พักในสถานที่ท่องเที่ยว ฝรั่งบางคนก็ใช้เว็บจองที่พักดังๆ ที่รู้จักกันดี ใช้ตั้งแต่หาข้อมูลที่พัก ดูความเห็นความคิดของคนที่เคยมาพัก ถ้าพออกพอใจก็สั่งซื้อที่พักผ่านหน้าเว็บนั้นเลย บางคนก็ใช้บริการแบ่งปันที่พักกันโดยตรงระหว่างเจ้าของกับคนอยากได้ที่พัก แบบ Airbnb แต่ถ้าเป็นสไตล์บ้านเราจะเริ่มต้นหาข้อมูลที่พักจากเว็บ เห็นที่ไหนถูกใจก็ไปดูต่อในห้องสนทนาในเครือข่ายสังคมแบบว่ามีใครชมใครด่าที่พักที่เราหมายตานั้นไว้อย่างไรบ้าง พอแน่ใจว่าใช่ที่นั้นแน่ๆ ก็ไปถามไถ่เพื่อนฝูงในเฟซบุ๊ค ในไลน์ ว่าใครรู้จักใครที่มีบริการจองที่พักที่เราหมายตาไว้บ้าง แนะนำกันไปกันมาไม่นาน ก็จะมีเพื่อนใหม่มาเสนอบริการจองที่พักในสารพัดรูปแบบ และข้อเสนอแทบทั้งหมดจะมีราคาถูกกว่าที่เสนอขายจากเว็บจองที่พัก หรือแม้แต่การจองโดยตรงจากที่พักนั้นเอง

คนเสนอขายมักเสนอสารพัดช่องทางสื่อสารเพิ่มเติมเพื่อให้คนอยากซื้อมั่นใจมากขึ้น ซื้อผ่านเว็บไม่ได้ยินเสียงคนขาย แต่ซื้อแบบนี้มีช่องทางให้คุยกันกับตัวจริงของคนขาย อยากซื้อแต่ไม่กระจ่างเรื่องไหน ก็โทรคุยกันได้ ไลน์สนทนากันได้ คุยกันแล้วคนอยากซื้อก็ใช้กูเกิลหาต่อไปว่าคนเสนอขายที่คุยกันนั้น มีใครชมใครด่าอะไรกันไว้บ้าง ถ้าไปเจอบนกูเกิลว่ารายนี้ใช่เลยที่เคยเบี้ยวคนอื่นไว้ ก็เลิกคิดจะซื้อกับรายนั้น แล้วย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกรอบ

ซื้อขายผ่านเครือข่ายสังคม ทำให้คนอยากซื้อรู้สึกเหมือนกับการซื้อขายกับคนรู้จัก คนหนึ่งมีของที่อยากปล่อย อีกคนหนึ่งอยากได้พอดี การส่งมอบสินค้าการชำระเงินจึงมีหลากหลายทางเลือก แบบคนรู้จักคุ้นเคยกัน ตั้งแต่นัดเจอกัน ส่งไปรษณีย์ วานมอเตอร์ไซค์ไปส่ง โอนเงินผ่านธนาคาร แลกกับคะแนนสะสมสายการบิน หรือแม้แต่เติมเงินโทรศัพท์ให้แทนค้าขาย แบบนี้ฝรั่งแปลกใจว่า เราจ่ายเงินจ่ายทองซื้อของจากคนที่รู้จักกันแค่บนเครือข่ายสังคมกันง่ายๆ ได้อย่างไร ฝรั่งกว่าจะจ่ายกันได้ ต้องมีกลไกสารพัด

นักซื้อทั้งหลายจึงต้องระลึกไว้เสมอว่าคนรู้จักกัน บางคนก็หลอกกันได้เหมือนกัน ดังนั้นขอให้ใช้สติปัญญาหาหนทางกันเองเถอะว่าทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ถูกเพื่อนหลอกได้ ยิ่งวันนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะเราได้เห็นเพื่อนหลอกเพื่อนกันอย่างเต็มหูเต็มตาแทบทุกวัน