'วิรไท'ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทย ไม่จำเป็นต้องเดินตามตลาดโลก

'วิรไท'ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทย ไม่จำเป็นต้องเดินตามตลาดโลก

ในเดือนหน้านี้วันที่ 11 พ.ค.ในการประชุม

  ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องตามลุ้นกัน ว่าจะมีการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะออกมาอย่างไร หลังจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เฝ้าดูว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะเข้ามาร่วมใช้นโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยทั้งกระตุ้นการลงทุนและการส่งออกของภาคเอกชนอีกแรงหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะภาคการส่งออกยังอ่อนแรง ถึงแม้ว่าจะขยับเป็นบวกช่วง 2 เดือนในเดือนก.พ.-มี.ค. แต่ดูเหมือน ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมายืนยันเสมือนหนึ่งว่า คงไม่มีใครสามารถไปคาดเดาเรื่องอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตได้ถูกต้องทั้งหมด แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.5% นั้น เป็นระดับที่เหมาะกับการลงทุนที่ต้องการปรับเปลี่ยนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การพิจารณาเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่จำเป็นต้องเดินตามทิศทางของตลาดโลก เพราะเป็นเครื่องมือที่แต่ละประเทศ จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างเหมาะสมล้วนมีขีดจำกัด

สิ่งสำคัญก็คือการดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยง ในส่วนของ ธปท.จะดูแลเรื่องความผันผวนของค่าเงิน ไม่ให้ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทในขณะนี้กับระดับภูมิภาคแล้วอยู่ในระดับกลางๆ จนถึงอ่อนค่า ล่าสุดเงินบาทแข็งค่ากลับเคลื่อนไหวที่ 34.95 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องต่อภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อทั่วโลกเกิดปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน ทำให้ไม่มีกระแสการลงทุนใหญ่ๆ เข้ามาในประเทศ สภาพคล่องส่วนเกินที่มีปริมาณมากทำให้เกิดการโยกย้ายไปลงทุนในภูมิภาคที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดย ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ว่าสิ่งที่ต้องจับตาดู 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่จะปรับลดดอกเบี้ยในภาวะที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเป็นจำนวนมากคงไม่มีเพิ่มขึ้น 2.ความอ่อนไหวด้านเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว และจับตาดูพฤติกรรมแสดงหาผลตอบแทน 3.ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เมื่อในโลกที่ไม่มีความแน่นอนอยู่มาก รวมทั้งภัยพิบัติ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ หากมีการเก็บกระสุนไว้บ้างก็มีความจำเป็น ทำให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องเดินตามทิศทางของตลาดโลก โดยนโยบายที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า คือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายด้านการคลังที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้เริ่มฟื้นตัว จากการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นปัจจัยเสริม จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นกว่านี้ นอกจากนี้ การมีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในสัดส่วน 9% หรือราว 34,000-35,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน และคาดว่าปีนี้จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง จากอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แม้ว่าการลงทุนชะลอตัวทำให้การนำเข้าสินค้าทุนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าที่ควร แต่ต้องถือว่าสถานการณ์ด้านภาคการต่างประเทศของไทยนั้นมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกันชนที่ดีในเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีระดับสูงกว่าการเป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3 เท่า ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเหมือนประเทศในตลาดเกิดใหม่อีกหลายประเทศ

รวมทั้งการพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่เห็นได้จากการออกพันธบัตรของรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.มีต่างชาติถือครองเพียง 8-9% ขณะที่พันธบัตรของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศมีต่างชาติถือครองสูง 30-40% ทำให้ได้รับผลเรื่องเงินทุนไหลเข้าและไหลออกที่รุนแรงกว่าประเทศไทยขณะนี้ จึงไม่ต้องกังวลจะเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเหมือนในอดีต เพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในขณะนี้ดีมาก โดยในการแถลงข่าวของธปท.สิ้นสุดไตรมาสแรกปีนี้ บ่งชี้ว่าภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวเกือบทุกกลุ่มกว่า 9 ล้านคน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว จากปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคเอกชนอ่อนแรงลงตามการลดลงของรายได้เกษตรกร และด้านการส่งออกที่ไม่รวมทองคำหดตัวจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมกระเตื้องขึ้นโดยเฉพาะหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกนี้สูงถึง 16,400 ล้านดอลลาร์เป็นเกราะป้องกันได้ในระดับแรก หากต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก