ไทยในเงาโลกซบ

ไทยในเงาโลกซบ

ความปั่นป่วนในตลาดเงินโลก และการดำดิ่งของราคาน้ำมัน

ในตลาดโลก จางคลายไป หลังจากผันผวนอย่างหนักเมื่อช่วงต้นปีนี้ จนสร้างความวิตกแก่หลายฝ่าย และในการประชุมกำหนดนโยบายครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็ได้แสดงท่าทีว่าวิตกน้อยลงเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและตลาดเงินในโลก ด้วยการระบุว่าจะยังติดตามเครื่องชี้ด้านเงินเฟ้อ และพัฒนาการทางเศรษฐกิจกับการเงินโลกอย่างใกล้ชิด แตกต่างจากการประชุมเมื่อเดือนมีนาคมที่ระบุว่า เศรษฐกิจและการเงินโลกถือเป็นปัจจัยเสี่ยง

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและดีดตัวแตะระดับสูงสุดของปีนี้ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เปิดโอกาสให้เฟดหันไปพุ่งความสนใจกับเศรษฐกิจในบ้าน ซึ่งตลาดแรงงานกระเตื้องขึ้น แต่เศรษฐกิจขยายตัวได้ช้าลง อีกทั้งเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ผลจากราคาพลังงานดำดิ่งและราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง สำหรับการลงทุนภาคธุรกิจและการส่งออกยังอ่อนแอ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนอยู่ในระดับปานกลางแม้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่จะรายงานออกมาในอนาคต ประกอบการพิจารณาทิศทางเศรษฐกิจและการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ท่าทีของเฟดที่ยังไม่เคลื่อนไหวเพิ่มเติม มีขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ประชุมกันและลงความเห็นว่ายังไม่ควรออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพราะต้องประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยสู่แดนลบเมื่อเดือนมกราคมเสียก่อน พร้อมเลื่อนเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% จากเดือนกันยายน 2560 ออกไปเป็นต้นปี 2561 อันสะท้อนถึงการท้าทายในการแก้ปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรัง

การขยายตัวในระดับที่ไม่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ กับญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและเติบโตอย่างอ่อนแรงแม้มีการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ มีขึ้นในขณะที่จีนซึ่งเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังปรับโครงสร้าง และมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นกำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 11.1% ในเดือนนี้ หรือการคาดหมายของสถาบันการเงินระหว่างประเทศว่านักลงทุนทั่วโลกจะถอนเงินทุน 538,000 ล้านดอลลาร์ ออกจากเศรษฐกิจจีนปีนี้ ซึ่งลดลงจากกระแสถอนทุน 674,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

ในท่ามกลางแนวโน้มที่ไม่แน่นอนสำหรับการขยายตัวของประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของหลายประเทศนั้น ย่อมส่งผลกระทบถึงไทยด้วย จนกระทั่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 3.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือนมกราคมที่คาดจะขยายตัวได้ 3.7% สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวลดลง คือ ตัวเลขการส่งออก

สภาพการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ต้องใช้มาตรการหลากหลายและต่อเนื่องเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไปจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ในระดับสูง และบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ในโลก ยืนอยู่บนเส้นทางของการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็ไม่สูงไปจากปีนี้นัก คืออยู่ที่ 3.5% เทียบกับ 3.2% สำหรับปีนี้