ประกันภัยพืชผล ทางที่ต้องเลือก

ประกันภัยพืชผล ทางที่ต้องเลือก

เกษตรอยู่ยากขึ้นทุกวันเพราะเจอความเสี่ยงสองเด้ง เด้งแรกคือความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร และสำหรับสินค้าเกษตร

บางตัวนอกจากราคาผันผวนแล้ว ทิศทางของราคาก็ทิ้งดิ่งลงไปเรื่อยๆ เด้งที่สองก็น่าหนักใจไม่แพ้กัน สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบสุดโต่ง เวลาร้อนก็ร้อนจนแล้ง พอฝนมาทีก็ทำซะจนน้ำท่วม แถมชอบไปตกหน้าเขื่อนเลยเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างรุนแรง แม้ว่าบางปีผลผลิตจะราคาดี แต่เจอกับภัยแล้ง น้ำท่วม โรคและแมลงจนเกิดความเสียหาย เกษตรกรก็ขายผลผลิตไม่ได้อยู่ดี

เกษตรกรจัดว่าเป็นกลุ่มที่คุณภาพชีวิตมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ไม่ได้มีอาชีพเสริมอื่น เพราะเงินจะได้เข้ามาเพียงปีละไม่กี่ครั้ง แต่ต้องใช้จ่ายตลอดปี หากมีอะไรเกิดขึ้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต รายได้ที่หายไป จะส่งผลกับชีวิตของคนในครัวเรือนไปทั้งปี ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงได้มีการทำประกันภัยพืชผล เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

สำหรับธุรกิจทั่วไป การทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเกษตรกร การทำประกันภัยให้กับผลผลิตอาจจะเป็นเรื่องที่ยังไม่คุ้นเคยนัก ทั้งที่ความจริงแล้วเกษตรกรก็คือนักธุรกิจเช่นกัน ลองยกชาวนามาเป็นตัวอย่าง การทำนาก็คือธุรกิจประเภทหนึ่ง ชาวนาก็คือนักธุรกิจที่ผลิตข้าวออกมาเป็นสินค้าเพื่อขาย การทำธุรกิจทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง บางธุรกิจเสี่ยงมาก บางธุรกิจเสี่ยงน้อย ซึ่งในกรณีของชาวนา ความเสี่ยงที่ต้องเจอมีสารพัดนับตั้งแต่วันที่คิดจะเป็นชาวนาจนกระทั่งนำข้าวออกไปขาย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ แมลง สัตว์ เชื้อโรคเชื้อรา สภาพดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติ และราคาสินค้าที่ตนเองแทบไม่มีอำนาจต่อรองเลย

ความเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลต่อรายได้และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ชาวนาไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้เสียที ชะตากรรมที่ชาวนาและเกษตรกรไทยต้องเผชิญไม่ใช่เรื่องใหม่ วังวนนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลก เพียงแต่วิธีการในการแก้ปัญหาของประเทศอื่นเขาก้าวไปไกลกว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือ เพราะประเทศเหล่านี้เข้าใจแล้วว่า ความช่วยเหลือที่สำคัญจริงๆ ก็คือ การเข้าไปช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงในเมื่อเกษตรกรไม่สามารถจะแบกรับได้ด้วยตนเอง หากมองด้วยหลักการนี้ การจ่ายเงินให้เกษตรกรจึงไม่ใช่ทางออกเดียว และไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

นี่คือที่มาของการทำประกันภัยพืชผล ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าใช่จ่ายของรัฐบาล จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า มี 86 ประเทศที่รับทำประกันภัยพืชผลหรือสินค้าด้านการเกษตรอื่นๆ ซึ่งมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา

คำถามหลักในเชิงนโยบายที่ควรพิจารณาในการทำประกันในลักษณะเดียวกันนี้ ให้กับเกษตรกรไทยมีอยู่สองข้อด้วยกัน คือ 1) เครื่องมือตัวนี้จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นจริงหรือไม่ และ 2) เครื่องมือตัวนี้จะก่อให้เกิดภาระทางการคลังกับรัฐบาลและมีความยั่งยืนในระดับใด

ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผลการศึกษาในต่างประเทศสรุปว่า การทำประกันช่วยให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยเหตุผลสามประการด้วยกัน ประการแรก คือการใช้บริษัทประกันภัยมาแบกรับความเสี่ยงบางส่วน เป็นหลักประกันว่าเงินในส่วนนี้จะถึงมือของเกษตรกรจริง โดยไม่ต้องพึ่งกลไกของรัฐ ประการที่สอง เมื่อรายได้ที่ได้รับมีความแน่นอน การวางแผนการผลิตในระยะยาวทำได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตได้ ประการที่สาม เงื่อนไขในการทำประกันประการหนึ่ง คือการกำหนดให้เกษตรกรต้องพยายามดูแลรักษาไร่นาของตนเองให้ดีอยู่เสมอ และอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างการผลิตในระยะยาวได้ โดยบริษัทประกันจะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเอง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการของบริษัท

ด้านภาระทางการคลังกับรัฐบาลและความยั่งยืนของบริษัท เกณฑ์เบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินบริษัทประกันภัยเรียกว่าอัตราสูญเสีย (Loss Ratio) สมมติว่าอัตราสูญเสียเท่ากับ 60% แสดงว่า เบี้ยประกัน 100 บาทที่ได้รับ จะต้องจ่ายให้กับผู้เอาประกันเพื่อชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวน 60 บาท อัตราสูญเสียของประกันอุบัติเหตุและทรัพย์สินอยู่ระหว่าง 40% ถึง 60% แต่ถ้าเป็นประกันสุขภาพอัตราสูญเสียอาจสูงถึง 85% ดังนั้น จึงพอจะประมาณได้ว่าบริษัทประกันจะอยู่ได้ในระยะยาวถ้ามีอัตราสูญเสียไม่เกิน 85%

จากข้อมูลที่ได้นำเสนอไว้ในแผนภูมิจะเห็นว่า อัตราสูญเสียของการประกันพืชผลในประเทศต่างๆ ไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ยกเว้นประเทศอินเดีย อัตราสูญเสียที่สูงในประเทศนี้เกิดจากปัญหาด้านการออกแบบบริษัทประกันที่ไม่เหมาะสม และปัญหาด้านการบริหารจัดการ แต่ถ้ามาดูกรณีของเม็กซิโก อัตราสูญเสียมีแค่ 45% เท่านั้น นั่นแสดงว่า บริษัทประกันที่ตั้งขึ้นมีโอกาสจะอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลมากนัก หากมีการออกแบบบริษัทประกันและมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม

ที่น่าดีใจก็คือ ประเทศไทยได้นำเครื่องมือด้านการประกันมาช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาหลายปีแล้ว และกำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากขึ้น งานนี้ต้องยกเครดิตให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่ผนึกกำลังกันทำงานอย่างเข้มแข็ง

ความท้ายทายต่อไปก็คือ การขยายระบบการประกันให้คุ้มครองเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีความเสี่ยงลดลง ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด