ยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล

ยุคเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล

สมาคมจีเอสเอ็ม นำเสนอรายงานฉบับล่าสุด

 ที่เน้นย้ำถึงบทบาทของการเชื่อมต่อ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีส่วนสำคัญ ต่อการสร้างสังคมดิจิทัลทั่วเอเชีย และเรียกร้องผู้กำหนดนโยบายให้สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลทั่วภูมิภาค

รายงานฉบับใหม่นี้จัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมดิจิทัลในเอเชีย” (Advancing Digital Societies in Asia) และนำออกเผยแพร่ในการประชุมนโยบายสังคมดิจิทัลประจำปี 2016 โดยสมาคมจีเอสเอ็มและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (GSMA-ITU Digital Societies Policy Forum 2016)

ในเนื้อหาที่นำเสนอมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสังคมดิจิทัลของแต่ละประเทศ ซี่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นายอลาสแดร์ แกรนท์ ผู้อำนวยการสมาคมจีเอสเอ็มประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่านโยบายด้านดิจิทัลในเอเชียมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของทั้งภูมิภาค เพราะเป็นพื้นฐานในการช่วยกำหนดและสนับสนุน การสร้างสังคมดิจิทัลของแต่ละประเทศในอนาคต อีกทั้งยังช่วยผลักดันเรื่องการสื่อสารข้ามพรมแดนที่สอดรับกันให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาค

เนื้อหาสำคัญที่มุ่งเน้นในรายงานฉบับใหม่นี้ คือความก้าวหน้าของการพัฒนาสังคมดิจิทัลใน 7 ประเทศในเอเชียได้แก่ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ปากีสถาน สิงคโปร์และไทย โดยแบ่งการพัฒนาดิจิทัลของประเทศในเอเชียเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สังคมดิจิทัลเกิดใหม่คือบังกลาเทศ และปากีสถาน

สังคมดิจิทัลช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศที่เป็นตัวอย่างของสังคมดังกล่าวในรายงานนี้ คือ “ไทย” และอินโดนีเซีย ที่มุ่งเน้นการปรับบริการตามความต้องการเฉพาะบุคคล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและสถาบันต่างๆ ประเทศเหล่านี้จะมีการขยายตัวของเมืองใหญ่อย่างรวดเร็ว จนเกิดปัญหาที่ต้องรับมือทั้งปัญหาสังคมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ส่วนสังคมดิจิทัลขั้นสูงคือออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต ทั้งในแง่การเข้าถึงในวงกว้างและขีดความสามารถในการรองรับ

ปัจจุบันประเทศเหล่านี้จะให้ความสำคัญ กับการพัฒนาระบบเชื่อมต่อ และการทำงานร่วมกันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างหลายภาคส่วน ประเทศเหล่านี้ยังถูกคำนึงถึงในฐานะผู้นำ ที่เป็นแบบอย่างของภูมิภาคในด้านการสร้างมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติของสังคมดิจิทัลเช่น อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT)

จะเห็นว่า ไทย มีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาสังคมดิจิทัล ที่มีโอกาสก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลชั้นสูงได้ ซึ่งต้องอาศัยพละกำลังของภาครัฐ และเอกชนที่ต้องร่วมมือกันมากกว่าที่เป็นอยู่ ร่วมกันขจัดอุปสรรค หรือผ่อนคลายกฏเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการลงทุนในยุคใหม่ เพราะการก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล ไม่ได้จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจระดับมหภาค ที่จะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพิ่มมูลค่าให้ประเทศชาติในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลไปถึงลูกหลานของเราในอนาคตด้วย