ก้าวสู่สังคมดิจิทัล การศึกษาต้องแกร่ง

ก้าวสู่สังคมดิจิทัล การศึกษาต้องแกร่ง

ประเทศไทยกำลังเร่งมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

 วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.) (ร่าง) พ.ร.บ.ดิจิทัล 3 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย (ร่าง)พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, (ร่าง) พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดยังมีผู้เห็นแย้งในหลายประเด็น เช่น อำนาจของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ดูๆ ไปแล้วจะมีมากกว่าศาล เพราะมีอำนาจสั่งปรับได้โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล และถือว่าคดีสิ้นสุด กรณีเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี แต่ พ.ร.บ.ทั้งหมดน่าจะผ่าน สนช. มาแน่ รัฐก็จะมีเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่มุ่งหวัง แต่จะขับเคลื่อนได้ระดับใด ต้องเฝ้าติดตาม

ทั้งนี้ การก้าวสู่สังคมดิจิทัลนั้น สมาคมจีเอสเอ็ม และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้จัดทำรายงานฉบับล่าสุด ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาความก้าวหน้าของสังคมดิจิทัลในเอเชีย” (Advancing Digital Societies in Asia) กำหนดนำออกเผยแพร่ในการประชุมนโยบายสังคมดิจิทัลประจำปี 2559 (GSMA-ITU Digital Societies Policy Forum 2016) ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน พ.ย.2559 ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสังคมดิจิทัลทั่วเอเชีย และเรียกร้องผู้กำหนดนโยบายให้สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลทั่วภูมิภาค

สมาคมจีเอสเอ็มระบุถึงสิ่งสำคัญอันดับแรกในการสร้างสังคมดิจิทัลคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มั่นคงและปรับขยายได้ในอนาคต โดยในภูมิภาคเอเชียนั้นโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้เชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงบริการดิจิทัลต่างๆ ดังนั้นจึงสนับสนุนให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเข้าใจในการใช้บริการให้ประชาชน

ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งมีส่วนส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมากขึ้น แต่ยังมีประชากรอีกราว 4 พันล้านคนที่ยังเข้าถึงเครือข่ายและใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ไม่ได้ โดยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยรวมในเอเชียแปซิฟิกยังคงตามหลังค่าเฉลี่ยทั่วโลก เนื่องจากภูมิภาคนี้มีประชากรมากแต่กลับมีสัดส่วนการพัฒนาเครือข่ายที่ค่อนข้างต่ำ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตส่วนบุคคลที่เสถียรและมีราคาที่เหมาะสมเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสังคมดิจิทัลเมื่อรัฐบาลและธุรกิจก้าวสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ประชาชนที่เข้าถึงระบบดิจิทัลจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ก็ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการนำไปสู่สังคมที่พัฒนา และสังคมดิจิทัลที่รัฐต้องการสร้าง ดังนั้น นโยบายด้านการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอย่างทั่วถ้วน ไม่ว่าจะเป็นคนเรียนดี หรือเรียนอ่อนเกรดต่ำกว่า 2.0 ก็ตาม จะต้องไม่จำกัดการเรียนรู้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือวัยใดวัยหนึ่ง จะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ต้องเรียนรู้ได้ตลอดเวลา