‘ตัวแปร’การเมืองไทย

‘ตัวแปร’การเมืองไทย

ท่ามกลางกระแสการเมือง นอกเหนือไปจากเรื่อง “ประชามติ”

 ที่ยังสบสนอลหม่านว่าอย่างไร “ทำได้” และแบบไหน “ทำไม่ได้”

ยังต่อเนื่องไปถึงภารกิจใหญ่ของกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต.โดยเฉพาะในวันที่ไร้ “เลขาธิการ” หลังจาก ภุชงค์ นุตราวงศ์ ถูกปลดกลางอากาศด้วยเหตุผลไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

จนเป็นที่จับตาถึงการ“สรรหา”ที่กำลังจะมีขึ้น จากข่าวกระเส็นกระสายว่าจะมีการเสนอตัว นายทหาร” เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญนี้ 

ที่เกรงว่าอาจจะมีผลกระทบถึงการทำประชามติ ไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ และจะกลายเป็นความไม่สบายใจ หรือเป็นเป้าโจมตีของบางกลุ่มบางฝ่าย นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต

ส่วนอีกเรื่องคือทิศทางของพรรคชาติไทยพัฒนา” หลังสูญเสีย “เสาหลัก” อย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญหลังการหย่อนบัตร เพราะกฎเกณฑ์กติกาไม่เอื้อเฟื้อ “พรรคใหญ่” ให้ชนะการเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

รวมทั้งด้วยประสบการณ์ทางการเมืองอันยาวนานของนายบรรหาร ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะนำพรรคเข้าสู่การร่วมบริหารประเทศ

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์“พลิกผัน”จึงเป็นที่จับตามองว่าพรรคชาติไทยพัฒนา จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร รวมไปถึงการคาดหมาย“คน”ที่จะมารั้งตำแหน่ง ผู้นำพรรคตัวจริง ต่อไปในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีกปีเศษๆ ข้างหน้า 

แม้ว่า“ลูกนา” กัญจนา ศิลปอาชา จะประกาศร่วมกับน้องชาย “ลูกทอป” วราวุธ ศิลปอาชา ดูแลพรรคและ“คนของพ่อ”ต่อไป แต่ก็คงเป็นเพียงแค่ความตั้งใจที่จะสานต่อเจตนา 

ในความจริงที่“การนำ”จะต้องมากด้วยบารมี ข้อนี้เป็นที่รู้กันดีว่าทั้ง 2 คน ที่ก้าวสู่การเป็นส.ส. และรัฐมนตรี ก็เพราะกระแส“สุพรรณบุรี”และมีแรงผลักดันจากผู้เป็นพ่อ

หรือแม้แต่บรดาอดีตรัฐมนตรี และอดีตส.ส.ก้นกุฏิทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นิกร จำนงค์ หรือ ธีระ วงศ์สมุทร ที่รั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่น่าจะมีบารมี“ด้วยตัวเอง”

รวมไปถึงกลุ่มนักธุรกิจใกล้ชิดทั้งหลายแม้จะมีเงิน มีบารมี แต่คนเหล่านี้ก็มักนิยมปักหลักทำธุรกิจและสนับสนุนอยู่ห่างๆ มากกว่า เหมือนอย่าง สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง แห่ง“เหมราช”ทั้งในฐานะคนสนิทนายบรรหาร และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ในสถานการณ์นี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับพรรคต่อไปหรือไม่

การขยับขยายภายในพรรคขณะนี้ยังทำอะไรได้ไม่มากนักในสถานการณ์“ไว้ทุกข์” แต่ขณะเดียวกันบรรดาแกนนำก็รู้ดีว่าไม่สามารถที่จะทิ้งระยะได้นาน เพราะการเมืองมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และกำลังคืบคลานเข้าสู่“ช่วงเวลา”สำคัญ

ท่ามกลางสถานการณ์นี้ มี“เสียงเชียร์”ให้เกิดการรวมตัวกัน ของบรรดาพรรคขนาดกลางไม่ว่าจะเป็นรวมใจไทยชาติพัฒนา ของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่มี“ราก”มาจากซอยราชครู เหมือนกัน หรือรวมกับพรรคลำดับสามอย่าง ภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีรกูล 

เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าชาติไทยพัฒนา ในวันที่ไม่มีบรรหาร จะยังได้เปรียบ หรือมี“แรง”ต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน 

แนวโน้มที่“อาจ”พอเป็นไปได้คือ การเป็นพันธมิตรกับพรรคใหญ่บางพรรค ที่กำลังตก"เป็นเป้า" และคิดปรับแผนเพื่อลดไซส์ กระจายความเสี่ยง ด้วยการรับ“ฝากเลี้ยงส.ส." ในท่วงทำนอง แยกกันเดิน ร่วมกันตี

รวมไปถึงกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบัน“บางคน”ที่ยังหลงใหลการเมือง และกำลังเล็งหา“พรรคสำเร็จรูป”เพื่อไม่ต้องเริ่มต้นกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่

แต่ก็อาจหมายถึงการขายพรรคขายจิตวิญญาณ ซึ่งคงต้องอยู่ที่การตัดสินใจของลูกหลาน“ศิลปอาชา” พร้อมด้วยบรรดารัฐมนตรีประจำบ้าน และกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนทั้งหลาย 

  ต้องจับตาดูต่อไปว่า ชาติไทยพัฒนา จะยังรักษาความเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง เหมือนการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาได้หรือไม่ !!!