นวัตกรรมกับการเพิ่มผลิตภาพ

นวัตกรรมกับการเพิ่มผลิตภาพ

ผมใช้หัวข้อบทความในสัปดาห์นี้ ที่จริงแล้วก็เพื่อจะให้ความสำคัญกับคำ 2 คำ คือ “นวัตกรรม” กับ “การเพิ่มผลิตภาพ”

คำว่า “นวัตกรรม” กับ “การเพิ่มผลิตภาพ” เป็นคำศัพท์ทางวิชาการที่ถูกหยิบยืมมาใช้ในภาษาทั่วไป จนทำให้ทั้ง 2 คำ กลายมาเป็นคำศัพท์ที่ผู้พูดและผู้ฟัง อาจเข้าใจความหมายที่ไม่ตรงกันในหลายๆ กรณี

และในหลายกรณี ที่ผู้ใช้นำมาเพียงเพื่อทำให้เรื่องที่จะพูดถึงมีสีสันดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้มากขึ้น

เข้าใจว่า คำทั้ง 2 คำนี้ ผู้ที่นำมาใช้ก่อนเพื่อนก็คือ นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้อธิบายว่า ระบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์จะสามารถขยายตัวขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพได้จากการนำนโยบายหรือพัฒนากลยุทธ์ผ่านกระบวนการภายในองค์กรด้วยทั้ง 2 คำนี้

คือ “การสร้างนวัตกรรม” กับ “การเพิ่มผลิตภาพ”

คำว่า “การเพิ่มผลิตภาพ” รู้สึกจะเป็นคำที่เก่าหน่อยในบริบทของประเทศไทยเรา โดยยืมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Productivity” ในครั้งแรกที่นำมาใช้ ได้ใช้คำว่า “การเพิ่มผลผลิต” ดังจะเห็นได้จากการตั้งชื่อหน่วยงาน “สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ” เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจของไทยมีการดำเนินการด้วยแนวคิดของการเพิ่ม “ผลิตภาพ” ในการผลิตหรือการทำธุรกิจ

ต่อมา มีผู้เล็งเห็นว่า คำว่า “การเพิ่มผลผลิต” ไม่ได้มีความหมายที่ตรงกับคำที่ยืมมาใช้ เพราะการเพิ่มผลผลิตอาจหมายถึงการทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากขึ้นซึ่งทำได้หลายๆ วิธี โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้ หรือคำนึงถึงทรัพยากรการผลิตที่ต้องสูญเสียไป

ส่วนคำว่า “การเพิ่มผลิตภาพ” มีความหมายบ่งบอกถึงการเพิ่มผลผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรการผลิตและคุณภาพของผลิตผลที่เกิดขึ้น โดยหมายถึง การเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือใช้ทรัพยากรจำนวนเท่าเดิม

การเพิ่มผลิตภาพ ก็คือสัดส่วนของ จำนวนผลผลิต ต่อจำนวนทรัพยากรที่ต้องใช้การผลิต ที่สูงขึ้น

ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจหรือการผลิตในเชิงพาณิชย์ องค์กรธุรกิจใดที่สามารถบริหารจัดการผลิตภาพขององค์กรให้ดีขึ้นได้ ก็จะทำให้องค์กรนั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ดำเนินการโดยมีผลิตภาพที่ต่ำกว่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงความหมายนี้ เช่น การผลิตข้าวออกมาได้เพิ่มขึ้นปีละกี่ล้านตัน เป็นการพูดถึงเรื่องของการเพิ่มผลผลิต แต่การผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นกี่ตันหรือกี่เกวียนต่อไร่ เป็นการพูดถึงเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ

หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกี่ล้านคน กับ จำนวนค่าใช้จ่ายต่อคนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องของตัวเลขการเพิ่มผลผลิตและตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ

แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มผลิตภาพ จะเป็นตัวชี้วัดถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพียงการเพิ่มผลผลิต ที่จะแสดงถึงระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของทรัพยากรที่ต้องใช้ไป

ส่วนคำว่า “นวัตกรรม” ที่ค่อนข้างดูจะทันสมัยกว่า และเป็นที่นิยมกันในช่วงเวลาปัจจุบัน เป็นอีกคำหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการแสดงขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอันเนื่องมาจากการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่เข้าสู่ตลาด ที่สามารถสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือรสนิยมของผู้บริโภคได้

โดย “นวัตกรรม” มักจะควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาประกอบ ซึ่งจะทำให้แตกต่างไปจากความแปลกใหม่ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นแฟชั่นซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ

ผลของ “นวัตกรรม” จึงเป็นความแปลกใหม่ที่มีช่วงชีวิตในตลาดได้ยาวนานกว่า และกระตุ้นในเกิดพัฒนาต่อเนื่องไปจากนวัตกรรมเดิมที่เป็นจุดเริ่มต้นได้

การสร้าง “นวัตกรรม” เชิงพาณิชย์ จึงมักเริ่มต้นจากการมีความคิดสร้างสรรค์ การประดิษฐ์คิดค้น การสร้าง ต้นแบบ หรือ Prototype เพื่อทดสอบความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ ก่อนการนำเสนอให้ตลาดและผู้บริโภคได้รับทราบ

นอกจากนี้ “นวัตกรรม” ยังต้องสามารถแพร่กระจายออกไปได้ในวงกว้าง เนื่องจากเป็นการนำเสนอความแปลกใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดและผู้บริโภค จนในบางครั้ง อาจถึงระดับที่สามารถเข้าไป “ปั่นป่วน” (Disrupt) สินค้าเดิมที่อยู่ในตลาด หรือ ระดับที่สามารถเข้าไปทดแทนหรือเบียดสินค้าเดิมให้หายออกไปจากตลาดได้

บางครั้งอาจอธิบายความเป็นนวัตกรรมได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ “Creative destruction” หรือ “การสร้างสรรค์ที่ทำลายล้าง”

ดังนั้น อาวุธสำคัญสำหรับธุรกิจเพื่อสร้างพื้นฐานความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น “นวัตกรรม” หรือ “ผลิตภาพ” จึงเป็น “ตัวเลือก” สำหรับองค์กรธุรกิจที่จะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะและความชำนาญของแต่ละธุรกิจให้ลงตัว

การสร้างนวัตกรรมที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาด ที่ตลาดยังไม่เคยรับรู้มาก่อน จึงทำให้อาจเกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนที่มากขึ้น แต่หากประสบความสำเร็จ ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย

ส่วนการเพิ่มผลิตภาพ อาจจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำกว่า เนื่องจากเป็นการพัฒนาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ตลาดรู้จักอยู่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่เป็นการภายในของแต่ละองค์กรเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการปรับปรุงวิธีการทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หรือจากการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าให้มีความทันสมัยทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

ด้วยธรรมชาติที่แตกต่างกันเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด ที่ธุรกิจเริ่มใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ จะต้องมุ่งเข็มไปที่การสร้างนวัตกรรม เพื่อหาโอกาสเกิดในตลาด และธุรกิจที่ดำเนินการมาอยู่แล้ว จะต้องมุ่งเข็มไปที่การเพิ่มผลิตภาพ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในตลาดสูงสุด โดยไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องของความเสี่ยงต่อการลงทุนใหม่มากนัก

หากคำว่า “นวัตกรรม” จะเป็นสิ่งที่คู่กับ สตาร์ทอัพ สำหรับ เอสเอ็มอี ทั้งหลาย ก็จะต้องไม่ลืมคำว่า “ผลิตภาพ” ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นการทำนวัตกรรมระดับอ่อนๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างพื้นฐานความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างมั่นคงในระยะยาว จากการเพิ่มกำไรและการลดต้นทุน

หากเอสเอ็มอีจะคิดผิดฝาผิดตัว ต้องการเปลี่ยนไปสร้างนวัตกรรมแบบพลิกโฉมให้กับธุรกิจเดิม อาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงเช่นเดียวกับความเสี่ยงของธุรกิจเริ่มใหม่

แต่ถ้าสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นรางวัลอย่างจุใจเช่นกัน ก็เป็นได้!!!!