ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี

ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี

ภาษิตฝรั่งมีว่า “คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี” (The man who dies thus rich dies disgraced)

หรือน่าละอาย นี่คือคำกล่าวของอภิมหาเศรษฐีอเมริกันนายแอนดรูว์ คาร์เนกี ผู้ที่บริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน ซึ่งต่างจากแนวคิดแบบไทยๆ ที่อยากตายโดยมีมรดกเหลือให้ลูกหลานมากๆ โดยไม่เคยคิดที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม

ภาษีมรดกที่ผิดเพี้ยน

ด้วยเหตุนี้ไทยเราจึงมีภาษีมรดกที่ผิดเพี้ยน กลายเป็นภาษีที่เก็บจากกองมรดกหลังมรณกรรม โดยเก็บอัตรา 10% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี (พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558) แต่ถ้ายังไม่ตาย ก็ค่อย ๆ ผ่องถ่ายให้ทายาทปีละ 20 ล้าน ก็ไม่ต้องเสียภาษี

อาจกล่าวได้ว่าการออกกฎหมายภาษีมรดกนี้แทบไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ต่อส่วนรวม ภาษีมรดกควรมีไว้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม เหมือนหญ้าในสนาม ก็ควรตัดให้เท่ากันเพื่อความเสมอหน้า ไม่เกิดผู้มีอิทธิพล แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีผลใดๆ เพราะสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่าย จำนวนเงินรวมสูงเกินไป อัตราภาษีที่จัดเก็บก็ต่ำเกินไป

เรามาลองดูในประเทศที่เจริญๆ กันหน่อยนะครับ

ในญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้มีมรดกไม่เกิน 10 ล้านเยน (3 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก ต้องเสียภาษี 10% ไปจนถึงอัตราสูงสุดคือ 50%

ในอังกฤษ ผู้ที่มีมรดกตั้งแต่ 350,000 ปอนด์ (18.15 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก โดยเสียสูงถึง 40% ของมูลค่า

ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในระดับมลรัฐ ผศ.กานดา นาคน้อย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาษีมรดกเก็บกับทรัพย์สินที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไปโดยเก็บในอัตราสูงสุด 20%

เราจึงควรแก้ไขภาษีมรดกนี้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ในระหว่างมีชีวิต ก็ต้องเสียภาษีในอัตราสูงแบบขั้นบันได จึงจะลดความเหลื่อมล้ำได้ การที่ไทยยังสามารถออกกฎหมายแบบนี้ได้ ก็แสดงว่าเรายังมีคนรวยสุดๆ ที่มีอิทธิพลทางการเมือง ยังมีผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ควรมี

เรามาเรียนรู้ประสบการณ์ในทวีปอเมริกาเหนือกันนะครับ

1) เมืองนอร์ฟอล์ค มลรัฐแมสซาชูเซ็ตต์ที่มีบ้านเพียง 2,895 หน่วย เมืองนี้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ 520 ล้านบาท คิดเป็น 55% ของงบประมาณทั้งปี อัตราภาษี 1.193% ของราคาตลาด แต่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึง 13% ในบางปี แต่เฉลี่ยแล้วราคาขึ้นมากกว่าภาษีที่เก็บไป

2) นครแองเคอะริจ มลรัฐอลาสก้า มีแปลงที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย 94,000 แปลง รวมมูลค่าของที่อยู่อาศัยประมาณ 880,000 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินแปลงละ 9.362 ล้านบาท ในเมืองนี้อัตราภาษีคือ 1.6% แสดงว่าภาษีที่จะได้จากทรัพย์สินคือ 14,080 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 68% ของงบประมาณเทศบาล

3) นครแคลการี แคนาดา มีขนาด 730 ตร.กม. ทรัพย์สินรวมมูลค่า 8 ล้านล้านบาท ภาษีที่เก็บได้เป็นเงิน 45,000 ล้านบาท หรือเป็นการเสียภาษีเฉลี่ย 0.56% โดยเป็นที่อยู่อาศัยเสียภาษีปีละ 0.4% ของมูลค่าตลาด ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่นเสียภาษีในอัตรา 1.1%

4) นครลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 32.67 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี 1% ของมูลค่าที่ประเมินได้ หรือ 326,700 ล้านบาท สำหรับงบประมาณของสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สิน เป็นเงินปีละ 5,250 ล้านบาท หรือแสดงว่าต้นทุนที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีเป็นประมาณ 1.6% ของภาษีที่จัดเก็บได้

5) มหานครนิวยอร์ก มีประชากรถึง 8.3 ล้านคน บนพื้นที่ 784 ตร.กม. อสังหาริมทรัพย์ในนครแห่งนี้มีทั้งหมด 1,079,183 ชิ้น มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้ทั้งหมด 24.4 ล้านล้านบาท เก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ได้สูงสุดถึง 40% ของภาษีทั้งหมด รองลงมากลับเป็นห้องชุดและอพาร์ตเมนท์ให้เช่าซึ่งจัดเก็บภาษีถึง 38% ที่อยู่อาศัยของตนเอง 15% และสาธารณูปโภคที่เก็บภาษีได้ 7%

มูลค่าภาษีที่ควรเก็บได้ในไทย

ตามสถิติที่เคยเก็บได้ กรุงเทพมหานครมีขนาด 1,568.7 ตารางกิโลเมตร มีที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ถึง 378.974 ตร.กม. (24% ไม่รวมที่ราชการ ที่อยู่อาศัย และที่เกษตรกรรม) หรือ 94,743,500 ตารางวา หากราคาที่ดินเฉลี่ยตารางวาละ 10,000 บาท ก็ตกเป็นเงินถึง 947,435 ล้านบาท หากเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า 2% ก็จะได้เงินภาษีถึง 18,948.7 ล้านบาทต่อปี

สำหรับที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีอยู่ 2,773,975 หน่วย หากบ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยมีราว 10% ก็จะเป็นบ้านว่างถึง 277,398 หน่วย แต่ละหน่วยมีราคาเฉลี่ย 2 ล้านบาท ก็เป็นเงิน 554,795 ล้านบาท หากเก็บภาษีในฐานะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ณ อัตราภาษี 1% ก็จะได้ภาษีอีก 5,548 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยที่เหลืออีก 90% คิดเป็น 2,496,577 หน่วย หากมีราคา 2 ล้านบาทเช่นกัน ก็จะมีมูลค่าถึง 4,993,155 ล้านบาท หากเก็บภาษีเพียง 0.1% ก็จะได้ภาษีอีก 4,993 ล้านบาท มาพัฒนาประเทศได้เช่นกัน

การเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นคุณต่อประเทศชาติและผู้เสียภาษีเองโดยตรง ภาษีมรดกก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ช่วยสร้างประชาธิปไตย เพราะเป็นภาษีที่ใช้ในท้องถิ่น ทุกวันนี้เราเสียภาษีเข้าส่วนกลาง แล้วส่วนกลางส่งไปให้ส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่างตอบแทน ทำให้เกิดอาการ “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” แต่ภาษีที่ดินจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของภาษี จะปล่อยให้เกิดการโกงง่ายๆ คงไม่ยอม จึงได้ช่วยกันตรวจสอบ

แรกๆ อาจเจอปัญหาการใช้ความรุนแรงจากผู้มีอิทธิพลบ้าง แต่ในระยะยาวก็จะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ไม่ขึ้นกับส่วนกลาง เป็นการสร้างประชาธิปไตยขั้นรากฐานตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล?