ฝนแล้ง น้ำท่วม แก้ด้วยเขื่อน!

ฝนแล้ง น้ำท่วม แก้ด้วยเขื่อน!

คอลัมน์อสังหาริมทรัพย์ต่างแดนวันนี้ ขอเสนอการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดยักษ์ประเภทเขื่อน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

ฝนแล้ง และผลิตไฟฟ้าในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการที่คุ้มค่าทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมือง

อันที่จริงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ว่าบ้านเรือนไทยต้องมีตุ่มน้ำ ยามใดฝนแล้งก็ยังเก็บน้ำไว้ใช้สอยได้ เช่นเดียวกับประเทศชาติ เราต้องมีเขื่อนมากๆ เพื่อกักเก็บน้ำ ไม่ใช่รอแต่ใช้น้ำจากธรรมชาติ ทั้งฝนหรือน้ำจากแม่น้ำลำคลอง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะตกต้องตามฤดูกาลเสมอไป แถมบางทีก็มามากและมาน้อยผิดปกติ สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่เคยรู้ก็คือว่า นอกจากเราต้องมีเขื่อนมากๆ แล้ว เรายังต้องสูบน้ำเข้าเขื่อน ที่ผมจะเสนอกรณีศึกษาของเขื่อน Taum Sauk Hydroelectric Power Station

เขื่อนแห่งนี้ หรือจะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำก็ได้ มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นรูปหัวใจ สวยงามมาก ดูแล้วเป็นเสน่ห์สำคัญประการหนึ่ง อ่างนี้ตั้งอยู่บนเนินของยอดเขา Proffit ซึ่งไม่มีแม่น้ำไหลผ่านเลย และถ้ารอรับแต่น้ำฝน ก็คงไม่เต็มอ่างแน่นอน ต้องสูบน้ำเข้าไปเก็บไว้เป็นสำคัญ โดยที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นเมืองหลักในมลรัฐมิสซูรีประมาณ 140 กิโลเมตรทางด้านใต้

เขื่อนนี้ใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนไฟฟ้าปกติในช่วงชั่วโมงวิกฤติที่ใช้ไฟฟ้ามากๆ ในราคาแพงในตอนหัวค่ำ แล้วในยามค่ำคืนที่ค่าไฟถูกลง ก็สูบน้ำขึ้นไปเก็บใหม่บนยอดเขา เขื่อนนี้จึงถือเป็นแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งก็ว่าได้ เขื่อนนี้สร้างในปี 2503 และเริ่มเปิดใช้ในปี 2506 ขณะนี้ผลิตไฟฟ้าได้ 440 เมกะวัตต์ จุน้ำได้ 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร มีขนาดรวม 5.7 ตารางกิโลเมตร สร้างสูง 30 เมตร ตอนสร้างเสร็จก็ได้รางวัลสิ่งก่อสร้างดีเด่นเป็นที่กล่าวขวัญกันเป็นอย่างมาก

ในปี 2548 เขื่อนนี้เกิดแตกจนน้ำหลากท่วมป่าไม้พังเป็นแถบ รวมทั้งท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหายมากมาย แต่โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต การแตกนี้ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 6 เมตร และน้ำได้ไหลจนหมดอ่างภายในเวลา 12 นาทีเท่านั้น

ถ้าเป็นในกรณีประเทศไทยคงถอดใจเลิกคิดเอาชนะธรรมชาติไปแล้ว แต่เขากลับสร้างใหม่และเปิดใหม่อีกในปี 2553 ต้นทุนในการสร้างใหม่เป็นเงินถึง 450 ล้านดอลลาร์ หรือ 16,200 ล้านบาทใกล้เคียงกับค่าสร้างเขื่อนแม่วงก์ของไทย และเมื่อก่อสร้างสำเร็จ ก็ได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม

หากมีการจัดการที่ดี เขื่อนประเภทนี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณมากๆ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และในยามที่มีน้ำมากๆ ก็ยังสามารถเติมน้ำไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้น้ำท่าสูญเปล่าไป ซึ่งข้อนี้นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากสำหรับประเทศไทยที่มีน้ำจืดปริมาณมหาศาลที่ไหลจากแถบภาคเหนือ ภาคกลาง แต่กลับไหลลงไปสู่อ่าวไทยโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้กักเก็บน้ำไว้ใช้สอยยามจำเป็น เราจึงควรทบทวนให้มีการจัดเก็บน้ำอย่างมีบูรณาการเสียที ด้วยการเร่งสร้างเขื่อนทั่วประเทศ

การสร้างเขื่อนในฐานะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นมีความคุ้มค่าในสหรัฐ ที่มีเขื่อนถึง 70,000 แห่ง แต่บรรดาเอ็นจีโอนำกรณีศึกษาการรื้อเขื่อน 2 แห่งมากล่าวอ้างว่าเขาเลิกสร้างเขื่อนกันแล้ว ทั้งที่เป็นเขื่อนเก่ามีอายุนับร้อยปี มีสภาพทรุดโทรม ผลิตไฟฟ้าแล้วไม่คุ้ม และยังมีเขื่อนอื่นทดแทนแล้ว ส่วนที่ว่ามีการรื้อเขื่อนอื่นๆ ก็เป็นเพียงเขื่อนขนาดเล็กหรือฝายทดน้ำ

แม้แต่ธนาคารโลกก็ยังสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ขณะที่บางคนก็อ้างรอยเลื่อนของเปลือกโลกว่าเมืองไทยไม่ควรสร้างเขื่อนมากมาย เดี๋ยวเขื่อนจะแตก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยถือเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวแห่งหนึ่ง ผมขออนุญาตนำ Hard Fact หรือข้อเท็จจริงที่ชัดและจะแจ้งมาให้ดู นั่นก็คือจำนวนเขื่อนที่มีอยู่มากมายนับได้ถึง 3,116 เขื่อน โปรดดูรูปภาพประกอบ Japanese Dam Finder ญี่ปุ่นมีเขื่อนมากมายทั้งที่ตั้งอยู่ในแนวอันตรายที่สุดของแผ่นดินไหวของโลก

ประเทศไทยกำลังถอยหลังเพราะประเทศอื่นกำลังพัฒนา เช่น เวียดนาม มีการวางแผนไว้ถึงปี 2573 จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง เขื่อนผลิตไฟฟ้า 12 แห่ง แต่ของไทยไม่กล้าแม้แต่จะคิด และมีอุปสรรคขัดขวาง จะใช้น้ำมันก็ไม่ได้ ถ่านหินก็ไม่ได้ พลังน้ำก็ไม่ได้ ต้องใช้สายลม-แสงแดดเป็นหลัก ประเทศเช่นนอร์เวย์ ลาว นิวซีแลนด์ ผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติได้ แต่ประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สวีเดน เขมร ไทย เวียดนาม คงผลิตได้ไม่เพียงพอ

เมื่อนำมาปรับใช้ในกรณีประเทศไทย เราอาจไม่จำเป็นถึงขนาดต้องสร้างเขื่อนบนยอดเขา แต่ในหุบเขาเช่น เขื่อนแม่วงก์ หรือในกรณีจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางที่ไม่มีภูเขา ก็อาจก่อเป็นเขื่อนขึ้นมาคล้ายกับเขื่อน Taum Sauk Hydroelectric Power Station หรือยังอาจใช้การขุดบ่อดินที่มีความลึก 30 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 เมตร ก็จะได้น้ำถึง 22.57 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการก่อสร้างนี้ ใช้ที่ดินขนาด 1 ล้าน ตรม หรือ 625 ไร่ๆ ละ 50,000 บาท หรือรวมเป็นเงิน 31.25 ล้านบาท สำหรับค่าที่ดิน หากน้ำหลากมากเช่นในปี 2554 ที่มีถึง 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำแบบนี้ได้ถึง 700 อ่าง รวมเป็นเงินค่าที่ดินเพียง 22,000 ล้านบาทโดยประมาณ

ยิ่งในกรณีฝนแล้งนี้ ยังสามารถขุดลอกบึง หรือขุดดินในที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ในราคาที่ดินที่แสนถูกตามชนบทต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในหน้าแล้งอย่างยั่งยืน เพื่อการเกษตร ตลอดจนเพื่อไล่น้ำเค็ม ส่วนในอีกช่วงหนึ่งก็ใช้กักเก็บน้ำที่สูบเข้ามาในฤดูน้ำหลาก เพื่อไม่ให้น้ำไหลสูญเปล่าลงไปในทะเลนั่นเอง บริเวณอ่างเก็บน้ำยังสามารถใช้พักผ่อนได้อีกด้วย

ที่เอาอสังหาริมทรัพย์เขื่อนมาให้ดู เพราะผมมั่นใจว่าคุ้มค่า โดยผมได้ไปประเมินเขื่อนที่เกาะชวาในโครงการเงินกู้ของธนาคารโลกมาแล้ว อย่าอ้างนะครับว่าคนไทยเป็นพันธุ์พิเศษ ประเทศอื่นเจริญได้ แต่ไทยเจริญไม่ได้