ปฏิรูประบบราชการแล้วเกษียณอายุข้าราชการที่ 55 ปี

ปฏิรูประบบราชการแล้วเกษียณอายุข้าราชการที่ 55 ปี

ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์กับการปฏิเสธการขยายและต่ออายุข้าราชการไปถึง 65 ปีของนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดเห็นของท่านสักเท่าไร และที่ผมมีปัญหาก็เพราะแสดงออกความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีนี่แหละ (กรณีออกแถลงการณ์แบบซื่อตรงเรื่อง“มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารจริงๆ นี่นาฮา)

การต่ออายุข้าราชการออกไปโดยอ้างเพียงแค่ต้องการแก้ปัญหา สังคมอุดมคนแก่และแก้ปัญหาการจ่ายเงินงบประมาณ โดยจะให้เอาข้าราชการแก่ๆ ได้ทำงานต่อไปอีก 5 ปีถือได้ว่าเป็นเรื่องตลกระดับเหนือชั้นกว่าหม่ำ ซึ่งผมอยากรู้จริงๆ ว่าคนที่คิดนั้นคิดได้อย่างไรกัน (ถ้าพูดเลียนแบบนายกรัฐมนตรีก็ต้องว่าเอาอะไรคิด) เพราะการให้ข้าราชการแก่ๆ ที่ส่วนใหญ่กินเงินเดือนสูงกว่าทั่วไป และเริ่มจะไร้สมรรถภาพแล้วทำงานต่อไปนั้นจะส่งผลดีต่อสังคมและประหยัดงบประมาณได้อย่างไร

เอาละครับเมื่อนายกรัฐมนตรีไม่รับมุขตลกเจ้านี้แล้วซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ท่านก็ควรจะดำเนินการต่อไปให้เกิดการลดการใช้จ่ายงบประมาณพร้อมกับแก้ปัญหาสังคมอุดมคนแก่ไปพร้อมกัน

หากพิจารณาปัญหาในระบบราชการที่หมักหมมมานาน ปัญหาหนึ่งได้แก่การขาดความรับผิดชอบต่องานโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุราชการมากและเป็นนายคนอื่นกลุ่มคนกลุ่มนี้มักจะเลี่ยงการตัดสินใจใดๆ เปรียบได้กับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวที่ทรงกล่าวว่าเป็น “โรคหินหักกับต้นโพ” ซึ่งรังแต่จะก่อปัญหาในการเจริญเติบโตของต้นโพธิ์

หากจะต้องต่ออายุราชการให้แก่ “หินหัก” เพื่อให้อยู่กับ “ต้นโพธิ์” ต่อไปก็คงจะไม่ได้เห็นการเติบโตอย่างมีรูปทรงสวยงามเยี่ยงต้นไม้ใหญ่แน่ๆ

ผมเสนอว่าให้ดำเนินการปฏิรูประบบราชการโดยเน้นให้มีการสร้างการกำหนดลักษณะงาน (Job Description) กันใหม่ที่แต่ละส่วนงานสามารถที่จะเลื่อนไหลเข้าไปช่วยเหลือกันได้ และมีเป้าหมายที่หน้าที่ในการ บริการและควบคุมตามเนื้องานของหน่วยงานเป็นหลัก จะต้องไม่ใช่การแยกงานให้แต่ละคนทำเป็นส่วนเสี้ยวแยกออกจากกันอย่างในปัจจุบัน แน่นอนว่าการประเมินผลงานในลักษณะงานเช่นนี้ย่อมต้องยากลำบากกว่าเดิม เพราะต้องประเมินภาพรวมประสิทธิภาพความสำเร็จของหน่วยงานก่อน และมีน้ำหนักมากกว่าการประเมินผลงานปัจเจกชน ซึ่งต้องใช้การประเมินจากประชาชนผู้เข้ามาใช้งานในส่วนราชการนั้นๆ มาร่วมประเมินด้วย

การสร้างจินตนาการงานของส่วนเฉพาะตัวเชื่อมต่อกับงานของเพื่อนร่วมงานและต่อเนื่องไปถึงเป้าหมายของหน่วยงานหรือองค์กร จะทำให้ “ผลรวม” มีพลังมากกว่า “ผลบวก” ซึ่งจะส่งผลให้ระบบราชการไม่ต้องการใช้คนทำงานมากเท่าที่เป็นกันมาจนถึงวันนี้

อย่าลืมนะครับการไม่เปิดรับ/แช่แข็งจำนวนข้าราชการ แต่กลับหลีกเลี่ยงด้วยการจ้างลูกจ้างชั่วคราว/ลูกจ้างประจำเพิ่มขึ้นนั้น อย่างที่ทำกันอยู่ทุกหน่วยงานในวันนี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อระบบราชการเลยแม้แต่น้อย เพราะยิ่งกลับทำให้เทอะทะและคนก็ทำงานไม่ได้เต็มที่ เนื่องจากลูกจ้างไม่มีกำลังใจที่จะทุ่มเททำงานเพื่อหน่วยงาน ดังนั้นการกำหนดลักษณะงานใหม่เช่นนี้จึงจะทำให้ระบบราชการมีโอกาสที่จะเล็กลงเพราะลดความจำเป็นของงานส่วนเสี้ยวลง

แต่ปัญหาที่สำคัญนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องพิจารณาและแก้ปมปัญหาทางจิตวิทยาของผู้บริหารที่ชอบมองเห็นเพียงแค่จำนวนของคนทำงาน เพราะสัมพันธ์อยู่กับความมีหน้ามีตาว่า “หน่วยงาน” ของตนเองใหญ่โดยที่พยายามขยายคนโดยซอยงานจนเป็นเสี้ยวไปหมด

พร้อมกันนั้นเมื่อระบบราชการเล็กลงก็กำหนดให้ข้าราชการเกษียณอายุที่ 55 ปีแทน 60 ปี เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานได้รับคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานแทน ซึ่งการทำเช่นนี้จะแก้ปัญหาคนว่างงานให้สังคมได้เร็วขึ้น และที่สำคัญประหยัดงบประมาณอีกโสดหนึ่งด้วย เพราะเงินเดือนข้าราชการเข้าใหม่ย่อมถูกกว่าเงินเดือนแพงๆ ของข้าราชการผู้อาวุโส และพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็คงยังไม่ค่อยป่วยกันสักเท่าไรหรอกครับ

ท่านไม่ต้องกังวลแทนผู้อาวุโสนะครับ ผมเชื่อแน่ว่าหากข้าราชการที่เกษียณอายุ 55 ปีเป็นคนดีมีฝีมือเขาและเธอย่อมจะสามารถหางานทำได้อย่างไม่ยากลำบากอะไร แต่หากยืดไป 65 ปีพวกเขาและเธอกลับจะหางานได้ยากมากขึ้น ดังนั้นหากทำการทดแทนผู้อาวุโสด้วยคนรุ่นใหม่เช่นนี้ก็จะทำให้สังคมไทยเพิ่มจำนวน/อัตราการจ้างงานขึ้นในคนทำงานสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่มผู้เกษียณไปหาทำงานใหม่ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าทำงานในระบบราชการ การจ้างงานที่มากขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแน่ๆ

แต่หากคนที่เกษียณอายุ 55 ปีแต่ไม่มีฝีมืออะไรที่เด่นก็จำเป็นที่จะต้องหาทำงานทั่วๆ ไปพร้อมกับเลี้ยงดูชีวิตด้วยเงินบำนาญ ซึ่งก็อาจจะพิจารณาการเพิ่มเงินบำนาญให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็น่าจะดีทั้งต่อผู้อาวุโสและดีต่อระบบราชการ (ดีกว่าที่จะทู่ซิ้อยู่แบบซังกะตายและดีกว่าเก็บเอาไว้ให้กลายเป็น“หินหักกับต้นโพ” )

คนเก่งดีมีฝีมือ ทำงานที่ไหนก็มีประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าในระบบราชการ บริษัทเอกชน หรือทำงานส่วนตัว

การปฏิรูประบบราชการให้กระชับมีประสิทธิภาพด้วยการสร้างลักษณะงานให้เชื่อมต่อกัน เพื่อเป้าหมายของหน่วยงานที่ต้องทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่ทำงานเพื่อให้ตัวเองมีงานทำอย่างในปัจจุบัน จะทำให้โอกาสการปรับขนาดระบบราชการให้เล็กลงและประหยัดงบประมาณคงที่ของแผ่นดินไปได้มากมาย พร้อมกับการถ่ายเลือดเก่าให้เลือดใหม่เข้ามาแทน น่าจะทำให้ชีวิตของระบบราชการมีคุณค่ามากขึ้นอันน่าจะทำให้สังคมไทยก้าวหน้ามากขึ้น

นายกรัฐมนตรีครับ ที่ผมพูดนี่หมายถึงทุกหน่วยงานราชการรวมกองทัพด้วยนะครับ