สวิงตันอุด: นักพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

สวิงตันอุด: นักพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

หากจะคิดถึงการต่อสู้เพื่อจะยื้อชีวิต ก็คงต้องคิดว่า ชีวิตที่จะยื้อต่อไปนั้นมีความหมายอย่างไร

สวิงตันอุด นักพัฒนาเอกชนภาคเหนือตัดสินใจที่จะไม่ยื้อชีวิตด้วยการแพทย์สมัยใหม่ และกลับไปรักษาตัวและคุณภาพชีวิตที่บ้าน บัดนี้ได้จากไปแล้ว ชีวิตที่ไม่ได้ยื้อให้ยาวนานอย่างไร้ความหมาย กลับเป็นชีวิตที่มีความหมายที่ควรจะได้เรียนรู้กัน

สวิงตันอุดลูกชาวนาแห่งบ้านมอญสันกำแพงเชียงใหม่ ได้กำหนดเส้นทางเดินของชีวิตตนเองอย่างบากบั่น และ“ต่อสู้”อย่างยิ่งความยากจนทำให้เลือกเส้นทางเข้าสู่พระศาสนา เพื่อที่จะได้มีโอกาสร่ำเรียนจนเมื่อเทียบชั้นทางโลก ได้ก็ตัดสินใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเลือกคณะศึกษาศาสตร์เอกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒบางแสน เป็นอันดับต้นๆ ในปี 2520

ชีวิตนักศึกษาของสวิงตันอุดไม่ได้สะดวกสบาย สวิงต้องทำงานในส่วนงานเทคโนโลยีทางการศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ เพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานกิจกรรมนักศึกษาพร้อมกันไป ในช่วงแรกๆ สวิงทำงานให้กับชมรมนักศึกษาคนเมืองและได้พบกับพี่ๆ ภาคเหนือจำนวนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการทำงานกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งพี่ๆ ภาคเหนือประทับใจในความเป็นคนทำงานและจิตใจที่ยืนอยู่กับคนยากไร้ของสวิง

การมีชีวิตนักศึกษาโดยทั่วไป หลังปี 2519 เป็นชีวิตที่ถูกทำให้ ไม่มีการเมือง” แต่นักศึกษารุ่นพี่นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งที่ยังคงจำเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามที่จะแสวงหามิตรสหาย เพื่อพูดคุยและทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้นำนักศึกษาที่ต้องโทษในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เริ่มเป็นประเด็นดึงเอานักศึกษาใหม่จำนวนหนึ่งเข้ามารวมกลุ่มสวิงตันอุดเป็นหนึ่งในกลุ่มนั้น

ภายหลังจากการนิรโทษกรรมนักศึกษา ผู้ต้องหาวันที่ 6 ตุลาคมขบวนการนักศึกษาได้เรียกร้องการคืนองค์การหรือสโมสรนักศึกษา เพื่อที่จะเป็นตัวนำในการทำกิจกรรม สวิงตันอุดได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสนคนที่สองในปีถัดมา

แม้ว่ากิจกรรมนักศึกษาโดยรวมในช่วงหลัง 6 ตุลาคมจะไม่คึกคัก ผู้นำนักศึกษาในกรุงเทพฯเรียกยุคสมัยนั้น ว่ายุคแห่งการแสวงหาครั้งที่สอง แต่กิจกรรมนักศึกษาที่บางแสนกลับแตกต่าง เพราะสวิงและเพื่อนนักกิจกรรมสามารถผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในการประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกหลังจาก 6 ตุลาคม

การเติบโตมาด้วยการแสวงหาทางออกให้แก่การดำเนินชีวิตที่ยากลำบากมาตั้งแต่เด็ก ทำให้สวิงจำเป็นต้องคิดและมองหาทางเลือกที่เป็นไปได้อยู่เสมอ สวิงจึงมักจะมีมุมมองนอกกรอบจากปรกติวิสัยเสมอมา ซึ่งทำให้สวิงสามารถแสดงตนเป็นผู้นำในกลุ่มนักกิจกรรมของบางแสนได้ด้วยบุคลิกภาพที่ประกอบกันระหว่างการประนีประนอมกับการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมั่นคง ซึ่งการรักษาดุลยภาพของทั้งสองด้านด้วยการเสนอทางออกที่คนทั่วไปไม่ทันคิดหรือคิดไปไม่ถึง จึงทำให้สวิงสามารถผลักดันการเคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวาง และได้รับการยอมรับจากเพื่อนพ้องน้องพี่นักกิจกรรม

เมื่อจบการศึกษา สวิงตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตด้วยการทำงานพัฒนา และเริ่มต้นชีวิตด้วยการสมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม(คอส) ทำงานโครงการที่จังหวัดพะเยา

การทำงานที่พะเยาทำให้สวิงพบกับจุดเปลี่ยนของชีวิตการทำงานพัฒนาที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ได้แก่ความขัดแย้งในองค์กรพัฒนาขนาดใหญ่ทำให้เกิดการแตกตัวขององค์กรพัฒนาขนาดเล็กขึ้นมาแทน การเกิดองค์กรขนาดเล็กจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อพบปะแลกเปลี่ยนกันสวิงได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็น “ผู้นำการจัดการของกลุ่ม” (group organizer) ซึ่งคงลักษณะเด่นบุคลิกภาพของสวิงในการจัดการปัญหาด้วยการแสวงหาดุลยภาพของการประนีประนอม และการแสดงจุดยืนของตนและกลุ่มได้อย่างแหลมคมและเหมาะสม

ประการที่สอง การได้พบปะและทำงานร่วมกับคุณพ่อนิพจน์เทียนวิหารที่ได้เริ่มทำงานการพัฒนาจิตสำนึก (conscientizing research) ที่มุ่งเน้นการ“ปลุกจิตสำนึก”ของคนยากไร้ (คนชายขอบในศัพท์ปัจจุบัน) ด้วยการรื้อฟื้นสำนึกความหมายของตัวตนเดิมให้มีพลังเพิ่มขึ้น (empowerment) ในการจัดการชีวิตของตน

เงื่อนไขสองประการนี้เอง ได้ทำให้สวิงและเพื่อนนักกิจกรรมในภาคเหนือสามารถที่จะสร้างเครือข่ายการทำงานพัฒนาได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับต้นทศวรรษ 2530 ปัญญาชนที่มีสำนึกเกี่ยวข้องกับสังคมกลุ่มหนึ่งได้เริ่มถักสานความสัมพันธ์กับนักพัฒนาเอกชน จึงนำไปสู่การสร้างกรอบความคิดในการพัฒนาที่เน้นการรื้อฟื้น และพัฒนาศักยภาพของชุมชนขึ้นมาในการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการพัฒนาด้วยแนวคิด“วัฒนธรรมชุมชน”

แม้กระทั้งในการดำเนินชีวิตของตนและครอบครัว สวิงก็พร้อมที่จะพิสูจน์ความเชื่อในศักยภาพของคนธรรมดา เมื่อสวิงเสนอความคิดและเคลื่อนไหวในเรื่องการศึกษาด้วยตนเอง สสวิงก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงในความคิดนั้น ด้วยการให้ลูกชาย 2 คนลาออกจากการศึกษาในระบบ เพื่อจะให้ลูกชายแสวงหาทางเลือกแห่งชีวิตตนเอง

และด้วยความคิดที่เชื่อว่า ชาวบ้านและคนธรรมดาล้วนแล้วแต่ทรงศักยภาพในการจัดการปัญหาของตนเอง สวิงได้มองเห็นและเข้ามาทำงานในการสร้างความหมายใหม่ให้แก่กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV จากเดิมที่ถูกรัฐและสังคมให้ความหมายเฉพาะด้านลบ โดยเฉพาะด้านจริยธรรมมาสู่การเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้ผิดอะไรการสร้างกลุ่มผู้ติดเชื้อ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตธรรมดาของผู้คนได้ทำให้ทั้งสังคมยอมรับและลบล้างความคิดเดิมไปได้

เมื่อมีอาวุโสมากขึ้น สวิงได้ปรับตัวเองจาก ผู้นำการจัดการของกลุ่มของนักพัฒนาในระดับโครงการมาสู่การเป็นผู้นำการจัดการโครงการระดับแนวทาง/ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธี ด้วยการทำงานกับผู้คนในหลายระดับ และเริ่มทางเดินของชีวิตเข้าไปสู่การต่อรองเพื่อการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนนำของเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนระดับชาติ และการเมืองระดับชาติ

ด้วยกรอบความคิดที่เชื่อมั่นในศักยภาพของชาวบ้าน/ประชาชน จึงทำให้สวิงเป็นหนึ่งในกลุ่มนำที่เสนอแนวทางการจัดการตัวเองของพื้นที่จังหวัดในแนวนโยบาย“จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งสวิงก็ได้ประสานเข้ากับเครือข่ายที่กว้างขวางในระดับประเทศ

กรอบคิดที่สั่งสมมาตั้งแต่เยาว์วัยผ่านกิจกรรมนักศึกษาในยามซึมเซาเข้าสู่ยุคความสำเร็จของการทำงานพัฒนาศักยภาพชาวบ้าน/ชุมชน และเข้ามาสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านพลังของสวิงได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์“งาน”จำนวนไม่น้อย ที่ส่งผลทำให้สังคมมองเห็นศักยภาพของผู้คนธรรมดาในสังคมไทย

แม้ว่าสวิงไม่รู้ว่ากำลังเข้าสู่ในช่วงท้ายแห่งชีวิต แต่สวิงได้หันกลับมาสู่การแสวงหาความหมายอีกด้านหนึ่งของชีวิต ด้วยการคืนสู่ศาสนธรรมสวิงได้ก้าวคืนสู่พระพุทธศาสนาด้วยจิตใจที่เต็มตื้นในการอุทิศตนเอง ให้แก่การปั้นพระพุทธรูปและเข้าสู่การสนทนาธรรมกับผู้ใส่ใจ

ในวันนี้แม้ว่าจะอาลัยต่อการจากไปของสวิงตัวอุด แต่ก็ตระหนักดีว่าชีวิตหนึ่งของเด็กชายชาวนาเติบใหญ่ และสลายลงสู่พื้นดินของสวิงตันอุดคุ้มค่าอย่างถึงที่สุดแล้ว