บทสนทนาว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 59 (f) ในเมียนมา

บทสนทนาว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 59 (f) ในเมียนมา

บทสนทนาของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาที่น่าขบคิดในขณะนี้ คือประเด็นข้อเสนอระงับใช้มาตรา 59 (f)

ในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ถึงแม้ว่าพรรค NLD จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 มีเสียงข้างมากในทั้งสภาผู้แทนราษฎร และสภาชนชาติ ทว่านางซูจีจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากมาตรา 59 (f) ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีคู่สมรส หรือทายาทที่เป็นชาวต่างชาติ

การนี้พรรค NLD จึงพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมานับตั้งแต่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2555 อย่างไรก็ดีข้อเสนอดังกล่าวมีอันต้องตกไปเนื่องจากพรรคไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเกินร้อยละ 75 ของสมาชิกสภาสหภาพทั้งหมดตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวมีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์

ข้อเสนอทางกฎหมายเพื่อเปิดช่องทางให้นางซูจีขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2558 นายโก นี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของพรรค NLD เสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่จะระงับใช้มาตรา 59(f) ชั่วคราว โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงข้อจำกัดหรือโทษของการระงับใช้กฎหมายบางมาตรา ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐสภาจะตรากฎหมายใหม่เพื่อการนี้ด้วยเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก แน่นอนว่าสมาชิกพรรคNLD ต่างออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น นาย ญานวิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรค และที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนางซูจี ตลอดจนอดีตนายพล ติน อู สมาชิกอาวุโสของพรรค ด้วยเหตุผลว่ามาตรา 59 (f) ขัดต่อเจตนารมณ์ของชาวเมียนมาที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

เพื่อรับประกันว่าข้อเสนอระงับใช้มาตรา 59 (f) จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ การประนีประนอมระหว่างนางซูจี และนายพลมินออง ลาย จึงเป็นบทสนทนาของการเปลี่ยนผ่านที่เกิดควบคู่กัน ทั้งสองฝ่ายพบปะหารือกันอย่างเป็นทางการไปแล้ว 3 ครั้ง หลังการเลือกตั้ง ท่ามกลางภาพลักษณ์ของกองทัพในบทบาทผู้อำนวยความสะดวกในเปลี่ยนผ่านและพัฒนาประชาธิปไตย มีรายงานข่าวถึงแนวทางการประนีประนอมระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเปิดโอกาสให้นางซูจีขึ้นเป็นผู้นำประเทศ อาทิการต่ออายุเกษียณราชการของนายพลมินอองลาย ออกไปอีก 5 ปี ซึ่งจะทำให้นายพลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของกองทัพผู้นี้ จะยังคงเป็นตัวแสดงหลักคู่ขนานไปกับนางซูจี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนข้อเสนอของพรรค NLD ที่ให้กองทัพมีสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญได้แก่ตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐยะไข่ รัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น รวมถึงเขตย่างกุ้ง ซึ่งต่างเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจสำหรับกองทัพ

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนของกองทัพต่อการระงับใช้มาตรา 59(f) กลับชัดเจนว่าข้อเสนอ เป็นไปไม่ได้และ ไม่เหมาะสม” เนื่องจากปราศจากหลักกฎหมาย และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน นายพลมินออง ลาย กล่าวไว้ว่าเมียนมาพึ่งจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมาเพียง 5 ปี เท่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน ในขณะเดียวกันสมาชิกหลายคนของกองทัพแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆว่ายังไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตราดังกล่าว เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ การมีความเกี่ยวโยงกับต่างชาติจะทำให้เมียนมาถูกแทรกแซงนอกจากนั้นยังมีความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสาร

นายเยหลุที่กล่าวว่า มาตราในรัฐธรรมนูญสามารถระงับได้เฉพาะสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อำนาจบริหารจะถูกโอนไปยังผู้บัญชาการทหารเท่านั้นนอกจากนั้นบทสนทนาที่ว่าด้วยมาตรา 59 (f) ยังคงได้รับความสนใจจากเครือข่ายชาตินิยมในเมียนมาที่จะมีการรวมตัวกันประท้วงข้อเสนอของพรรค NLD ในเวลาอันใกล้โดยให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพียงมาตราใดมาตราหนึ่งเพื่อคนๆเดียวเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ นอกจากนั้นยังมีข้อโต้แย้งว่าหากพรรค NLD ผลักดันเรื่องดังกล่าวจริงจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของรัฐสภาและสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารในที่สุด

บทสนทนาของทั้ง 3 ฝ่ายต่อกรณีการระงับใช้มาตรา 59 (f)จึงมีความสุ่มเสี่ยงและนัยสำคัญต่อการเผชิญหน้า ดังนี้เองอาจทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมการเคลื่อนไหวของพรรค NLD ในเรื่องนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอและข่าวลือข้อเสนอดังกล่าวจึงอาจเป็นเพียงยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคและรัฐบาลใหม่ที่จะหยั่งเสียงท่าทีของฝ่ายกองทัพและความคิดของสังคมต่อบทบาทและบารมีของนางซูจีในขณะที่พรรค NLD และนางซูจี ก็น่าจะทราบเป็นอย่างดีว่าการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ณ เวลานี้จะเป็นผลดีที่สุดกับทั้งพรรค NLD และกองทัพที่ต่างได้ประโยชน์จากการประนีประนอมระหว่างกัน การดึงดันที่จะระงับการใช้มาตรา 59(f) จึงมีผลเป็นลบต่อสถานะทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่ายในอนาคตอันใกล้ดังนั้นการถอยฉากของพรรค NLD

ต่อข้อเสนอดังกล่าวในเร็ววันนี้จึงเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าจะประหลาดใจนักอีกทั้งน่าจะเป็นผลดีต่อนางซูจีในทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การไม่ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการบริหารประเทศทำให้นางซูจียังมีพื้นที่และความยืดหยุ่นทางการเมืองที่จะใช้บารมีในการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่รัฐบาลและพรรค NLD และหากนางซูจีแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นถึงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประเทศเมียนมากับทุกฝ่ายอย่างประนีประนอมอย่างแท้จริงแล้ว บทสนทนาว่าด้วยเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนางซูจีต่อจากนี้จะเปลี่ยนไป ความเชื่อมั่นเชื่อใจทางการเมืองระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จะกรุยทางสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้นางซูจีขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ในที่สุด หากแต่ผู้สนับสนุนจะรอไหวหรือไม่หากวันนั้นยังมาไม่ถึง

------------------------

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร

ผู้ประสานงานร่วมโครงการ ASEAN Watch สกว.

และผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ มธ.