ดร.ถนัด คอมันตร์ ในความทรงจำของคนข่าว

ดร.ถนัด คอมันตร์ ในความทรงจำของคนข่าว

ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของ ดร.ถนัด คอมันตร์

 ในวัย 102 เมื่อวันพฤหัสฯ ควรได้รับการจารึกเป็นการจากไป ของนักการทูตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทย และของภูมิภาคนี้ทีเดียว

คุณถนัดเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1959 ถึง 1971 หรือ 12 ปีเต็ม ๆ และเป็นที่ยอมรับนับถือของแวดวงการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียไม่น้อย

ในขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่ขยายตัวในอินโดจีนอย่างร้อนแรง และพรรคคอมมิวนิสต์ก็ก่อตัวในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ คุณถนัดในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศลงนามใน “แถลงการณ์ร่วม” กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ดีนรัสก์ในปี 1962

เรียกกันอย่างเป็นทางการขณะนั้นว่า Thanat-Rusk Communique โดยที่วอชิงตันให้คำมั่นว่าหากไทยถูกคุกคามโดยคอมมิวนิสต์ (ที่ขณะนั้นมีจีนและสหภาพโซเวียตเป็นแกนสำคัญ) สหรัฐจะเข้ามาคุ้มกันประเทศไทย

ในช่วงที่อินโดนีเซียกับมาเลเซียมีเรื่องบาดหมางกันอย่างแรงระหว่าง 1963-66 ที่เรียกว่า “การเผชิญหน้า” (Konfrontasi) นั้น คุณถนัดก็เล่นบทเป็นท้าวมาลีวราช เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองชาติมากินลมชมวิวชายทะเลของไทยเพื่อเจรจาลดความตึงเครียดไปได้ในระดับหนึ่ง

ต่อมา คุณถนัดเป็นตัวตั้งตัวตีให้ตั้ง อาเซียนเมื่อปี 1967 เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือภูมิภาคแถบนี้ ในช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังร้อนแรงในย่านนี้ โดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ Adam Malik จากอินโดนีเซีย Narcisco Ramos จากฟิลิปปินส์ Tun Abdul Razakจากมาเลเซีย และ S. Rajaratnam จากสิงคโปร์มาประชุมกันที่บ้านพักรับรองแหลมแท่น ชายหาดบางแสนตกลงจะก่อตั้งองค์กรภูมิภาคที่เรียกว่า Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) และลงนามในคำปฏิญญาก่อตั้งอาเซียนที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967

จากสมาชิกก่อตั้ง 5 ชาติเมื่อ 49 ปีก่อนมาเป็น 10 ประเทศ ประชาคมอาเซียน วันนี้

ต้องถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของคุณถนัด ที่เห็นความจำเป็นในเรื่องความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ยืนยันได้ว่าได้กลายเป็นองค์กรที่มีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงอย่างมีนัยยิ่ง

เพราะความที่อยู่กับกระทรวงต่างประเทศยาวนาน คุณถนัดมีความมั่นใจในตัวเองสูง ในยุคที่อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของรัฐบาลถนอม-ประภาส คุณถนัดเป็นคนกุมนโยบายต่างประเทศเกือบทั้งหมด ยกเว้นนโยบายทางทหารที่ขณะนั้นมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐอย่างยิ่ง

ถึงขั้นที่มีข่าวว่าก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะก่อนจะทำการ “ปฏิวัติตัวเอง” ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1971 นั้น ผู้นำไทยตอนนั้นต้องแจ้งไปทางสถานทูตสหรัฐล่วงหน้าเพื่อขอให้สนับสนุนด้วยซ้ำไป

ผมยังจำได้ว่าคืนวันรัฐประหารนั้น คุณถนัด ไปพูดที่สโมสรนักข่าวต่างประเทศ นักข่าวได้ข่าวเรื่องจอมพลถนอมประกาศยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ถามคุณถนัดว่าได้รับทราบข่าวนี้หรือยัง? คุณถนัดยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีข่าวเรื่องรัฐประหาร นักข่าวสร้างเรื่องขึ้นมาเอง อีกไม่ถึงชั่วโมงต่อมา เมื่อคำประกาศออกมายืนยันว่าเป็นจริง คุณถนัดก็หลุดตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศทันที

คุณถนัดไม่ชอบตอบคำถามของนักข่าวนัก และมักจะต่อว่าต่อขานนักข่าวทำนองว่า ไม่รู้เรื่องนโยบายต่างประเทศเพียงพอที่จะตั้งคำถามหรืออย่างไร

เมื่อกระทรวงต่างประเทศตั้งโฆษกพูดแทนรัฐมนตรี นักข่าวก็ขนานนามท่านว่า เทวดาน้อย กันเลยทีเดียว

ในช่วงก่อนหน้านั้นสองสามปี ผมเขียนคอลัมน์ Thai Talk ที่บางกอกโพสต์ วิจารณ์ว่ากระทรวงต่างประเทศไม่ค่อยให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศให้คนไทยทั่วไปได้เข้าใจ และมักจะแถลงข่าวปฏิเสธเรื่องราวที่มาจากต่างประเทศที่เป็นไปทางลบเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ไม่ยอมตอบคำถามของนักข่าวไทยอย่างตรงไปตรงมา

คุณถนัดไม่พอใจคอลัมน์ผม เชิญบรรณาธิการไปพบ ถามว่าคนเขียนคอลัมน์นี้เป็นใคร อาจหาญวิจารณ์กระทรวงต่างประเทศได้อย่างไร มีใครเข้าใจเรื่องนโยบายต่างประเทศมากไปกว่าคนของกระทรวงฯหรือ...พูดคล้าย ๆ กับให้บรรณาธิการไล่ผมออกอะไรทำนองนั้น แต่เมื่อคณะบรรณาธิการปรึกษากันแล้ว คงเห็นว่าหากปลดผมออกด้วยเหตุผลว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไม่พอใจการแสดงความเห็นของผมก็คงเป็นประเด็นร้อนโดยไม่จำเป็น

ผมรอดปากเหยี่ยวปากกาของยุคการเมืองรวบอำนาจและสงครามเย็นมาได้ก็ต้องถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหลือหลาย

ต่อมาอีกหลายปี ผมมีโอกาสได้พบคุณถนัดในโอกาสต่าง ๆ ท่านก็โอภาปราศรัยพูดคุยเรื่องต่างประเทศกับคนรุ่นหลังอย่างผมกว้างขวางขึ้น

ยังจำได้ว่าเคยสัมภาษณ์คุณถนัดออกรายการ “News Talk” ทางช่อง 9 ซึ่งร้อนแรงไม่น้อย เพราะระหว่างการซักถามนั้น คุณถนัดพยายามต้อนผม แทนที่ผมจะตั้งคำถามการทำหน้าที่ของท่าน ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศอันยาวนาน

หนึ่งในคำถามเกี่ยวกับบทบาทของคุณถนัดกับทหารอเมริกันและฐานทัพสหรัฐในไทย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีข้อตกลงลับทางทหาร และความมั่นคงที่ไม่เคยได้รับการเปิดเผย

คุณถนัดไม่ตอบคำถามตรงๆ แต่จะย้อนถามผมว่า คุณรู้อะไร? คุณเกิดแล้วยังตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่?”

สำหรับผม นั่นเป็นรายการสัมภาษณ์ที่สนุกและท้าทายที่สุดรายการหนึ่งทีเดียว

วันนี้ผมรำลึกถึง ดร.ถนัด คอมันตร์ ด้วยความเคารพและชื่นชมในบทบาท ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย ในจังหวะที่การเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้น ตกอยู่ในภาวะละเอียดอ่อน และประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากรอบด้าน

ดร.ถนัด จึงมีคุณูปการต่อนโยบายต่างประเทศ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ขอดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สรวงสวรรค์ แห่งความสันติและสงบเทอญ