โครงการรถไฟไทย-จีน เห็นทีจะไม่ราบรื่นอย่างที่กล่าวอ้าง

โครงการรถไฟไทย-จีน เห็นทีจะไม่ราบรื่นอย่างที่กล่าวอ้าง

โครงการรถไฟฟ้า ไทย-จีน ยังอยู่ในภาวะ

 “ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ชั่ง” เพราะดูเหมือนจะมีเงื่อนไขใหม่ ๆ เกิดขึ้นระหว่างทางจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูงขึ้นทุกวัน แม้ว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะพยายามบอกว่า ทุกอย่างกำลังเดินไปสู่ความตกลงในเร็ววัน

ล่าสุดคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคม ยอมรับว่าจีนได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ว่า หากไทยต้องการให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ตั้งแต่การลงทุนก่อสร้างรางรถไฟ ไปจนถึงร่วมทุนในการเดินรถ ฝ่ายจีนต้องการได้สิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ตลอดแนวสองข้างทางรถไฟ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ

คุณอาคมบอกว่าฝ่ายไทยยืนยันว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอของจีนได้ และการที่จีนขอสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่ สองข้างทางรถไฟไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเจรจาโครงการนี้ 

ในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายไทยและจีนได้มีการหารือร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการ ฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายจีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพิ่ม จากเดิมที่จะร่วมลงทุนเฉพาะการเดินรถเท่านั้น เป็นให้ฝ่ายจีนเข้ามาร่วมลงทุนตั้งแต่การก่อสร้างทางรถไฟไปเลย 

แต่ฝ่ายจีนบอกว่าโครงการนี้อยู่ในประเทศไทย หากจะให้จีนลงทุนมากขึ้นจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นขอสิทธิในการบริหารพื้นที่ตลอดแนวสองข้างทางรถไฟ และสิทธิในการดำเนินการในแต่ละสถานีด้วย

การประชุมคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายที่กรุงปักกิ่งในเดือนมีนาคมนี้ หัวข้อเจรจาก็จะเป็นประเด็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะประเด็นสัดส่วนการร่วมทุนให้ชัดเจนว่าฝ่ายไหนจะถือหุ้นเท่าใด

แม้ว่าคุณอาคมบอกว่าการศึกษากรอบวงเงินลงทุน ไม่น่าจะล่าช้าจนถึงขั้นทำให้โครงการชะงัก และทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม แต่หากติดตามข่าวคราวจากทั้งสองฝ่ายก็พอจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ราบรื่น และมีประเด็นคล้ายกับที่อินโดนีเซียและ สปป. ลาวต้องเจรจาต่อรองกับจีนอยู่เช่นกัน

พอได้ยินเรื่องจีนเสนอเงื่อนไขใช้ที่สองข้างทางรถไฟ เพื่อทำประโยชน์ก็ทำให้คิดถึงข่าวคราว ว่าก่อนหน้านี้จีนก็เคยมีข้อเสนอทำนองนี้ต่อรัฐบาล สปป. ลาวเช่นกันจนทำให้การเจรจาชะงักไป

แต่ต่อมาภายหลังข่าวบอกว่าจีนให้ลาวกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการนี้โดยที่จะเอารายได้จากเหมืองแร่โปแตช 5 แห่งมาชำระคืนเงินกู้จีน ซึ่งแปลว่ารัฐบาลลาวจะต้องเจอกับหนี้สาธารณะที่สูงลิ่วและต้องแลกมาด้วยทรัพยากรธรรมชาติในรูปของการยกเหมืองโปแตช 5 แห่งให้จีนไป

โครงการรถไฟอินโดนีเซีย-จีนจากจาการ์ต้าไปบันดุงก็ประสบอุปสรรคเช่นกัน เพราะแม้ประธานาธิบดีโจโกวีจะร่วมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว แต่หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็มีข่าวจากหน่วยงานรัฐของอินโดฯว่ายังไม่อาจจะออกใบอนุญาตให้เริ่มงานได้เพราะยังมีปัญหาเรื่องเอกสารและรายละเอียดที่ยังตกลงกันไม่ได้

และไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟในไทย ลาวหรืออินโดฯที่จีนมาเสนอร่วมสร้างก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าโดยตัวมันเองจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด นอกจากจะประเมินผลได้ทางด้านอื่น ๆ มาประกอบเท่านั้น และ “ปัจจัยอื่น ๆ” ที่ว่านี้คืออะไรก็ยังจะต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองกันให้รอบด้าน

หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องเดินโครงการนี้ด้วยความโปร่งใส รายงานให้ประชาชนทราบทุกระยะ เพราะรัฐบาลอยู่แล้วก็ไป แต่โครงการนี้อยู่ยาวนาน ประชาชนคือผู้ต้องแบกรับภาระในวันข้างหน้าหากโครงการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันว่าจะเป็นเรื่อง วิน-วินอย่างที่กล่าวขานกันวันนี้