ถอดบทเรียน KPK: องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (1)

ถอดบทเรียน KPK: องค์กรถอนพิษคอร์รัปชันอินโดนีเซีย (1)

ผลจากการศึกษาวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นผลกระทบด้านลบของการทุจริตคอร์รัปชันที่มีต่อคุณภาพของการเมือง

การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

การต่อสู้กับคอร์รัปชันจึงกลายเป็นวาระร่วมกันของโลกในยุคปัจจุบัน มีการผลิตองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างกว้างขวางเพื่อค้นหาแนวทางที่แต่ละสังคมจะต่อสู้กับคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทเรียนมากมายให้สังคมไทยเก็บรับและเรียนรู้จากประเทศต่างๆ

ในบทความนี้ขอหยิบยกกรณีศึกษาของอินโดนีเซียมาถอดบทเรียน เหตุที่ไม่ยกตัวอย่างเดนมาร์ค นอร์เวย์ สวีเดน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่โปร่งใสที่สุดในโลก เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาเหล่านี้มีพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างจากไทยมากจนอาจทำให้ถอดบทเรียนได้ลำบาก

ในขณะที่อินโดนีเซียเริ่มต้นเอาจริงกับปัญหาคอร์รัปชันในช่วงเวลาที่มีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดีกว่าสังคมไทย (ต้องถือว่าด้อยกว่าด้วยซ้ำ)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ อินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน ทั้งที่เริ่มจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย คือสังคมมีธรรมาภิบาลต่ำมาก ในช่วงปี 2538-2542 ผลการสำรวจว่าด้วยดัชนีชี้วัดความโปร่งใส ที่เรียกว่า Corruption Perception Index จัดให้อินโดนีเซียอยู่รั้งท้าย ในขณะที่ปัจจุบันก้าวกระโดดมาอยู่ที่อันดับ 88 จาก 161 ประเทศทั่วโลก มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นกรณีตัวอย่างที่นานาชาติให้ความสนใจ เป็นความ “มหัศจรรย์” ที่ถูกยกย่องอย่างกว้างขวาง จนคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตของอินโดนีเซียที่ชื่อ Komisi Pemberantasan Korupsi หรือ KPK ได้รางวัลแมกไซไซในปี 2556 นอกจากนั้น KPK ยังได้รับการโหวตจากประชาชนอินโดนีเซียหลายปีติดต่อกันให้เป็นองค์กรสาธารณะที่น่าเชื่อถือศรัทธามากที่สุด พร้อมกับมีผลการทำงานดีที่สุดด้วย

องค์กร KPK หรือ ปปช.อินโดนีเซียเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2546 โดยแรงผลักดันจากการกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและการเติบโตของภาคประชาสังคมภายหลังการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารของนายพลซูฮาร์โต ที่ปกครองประเทศยาวนานถึง 32 ปี และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบอบที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดในเอเชีย โดยประธานาธิบดีซูฮาร์โตรวมศูนย์อำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าหาตัวเอง และใช้อำนาจนี้แจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับครอบครัว พวกพ้องนายพลในกองทัพ เพื่อนฝูงนักธุรกิจ และข้าราชการระดับสูงในเครือข่าย ทำให้ภายใต้อำนาจซูฮาร์โต อินโดนีเซียกลายเป็นสังคมปิดที่ขาดความโปร่งใส เต็มไปด้วยการใช้เส้นสายและระบบอุปถัมภ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และการปิดกั้นสื่อ

เมื่อระบอบนี้สิ้นสุดลงในปี 2541 จึงเกิดแรงผลักทั้งจากภายในและภายนอกที่จะสร้างสังคมที่โปร่งใสปราศจากการผูกขาดอำนาจ วาระทางสังคม 2 ประการถูกผลักดันไปควบคู่กันคือ การสร้างประชาธิปไตยและการขจัดคอร์รัปชัน ภารกิจของ KPK เมื่อเริ่มก่อตั้งนั้นมีแรงเสียดทานสูง เพราะต้องเผชิญกับมรดกตกทอดจากระบอบอุปถัมภ์แบบเผด็จการของซูฮาร์โตที่ฝังรากลึกในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม บวกกับการเป็นองค์กรเกิดใหม่

ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ทำให้ KPK ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง คือ 1) การออกแบบในเชิงสถาบันที่รอบคอบรัดกุม 2) ขีดความสามารถของบุคลากรและทรัพยากร 3) ความเป็นอิสระและเป็นกลาง 4) แรงสนับสนุนจากสื่อและประชาสังคม 5) บรรยากาศประชาธิปไตย

ในแง่การออกแบบ KPK ยึดตัวแบบของฮ่องกงที่ให้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ปปช.อย่างกว้างขวาง คือ มีอำนาจในการป้องกัน สืบสวนสอบสวน และฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ทุกองค์กรโดยตรง (ยกเว้นบุคลากรกองทัพที่ KPK สืบสวนสอบสวนได้แต่ฟ้องร้องไม่ได้) เหตุผลที่ KPK ถูกออกแบบให้มีอำนาจฟ้องคดีได้เพราะอัยการถูกมองว่าขาดความสามารถและความเป็นกลางในการทำคดีคอร์รัปชัน

แต่ที่สำคัญคือ ที่มาของ KPK ที่ถูกสร้างให้เป็น เสือที่มีเขี้ยวเล็บนี้ถูกออกแบบอย่างรัดกุมและยึดโยงกับประชาชนคือ เริ่มจากประธานาธิบดีตั้งกรรมการคัดสรรที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคประชาสังคมและภาครัฐผสมกัน กรรมการคัดสรรนี้มีหน้าที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่ง 10 คน ส่งให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งรับรองและคัดกรองเหลือ 5 คน โดยกรรมการทั้ง 5 คน อยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ วาระละ 4 ปี (สังเกตว่าไม่นานนัก) จะเห็นว่ากระบวนการสรรหากรรมการ KPK มีที่มาทั้งจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่โยงกับประชาชน และภาคประชาสังคม จึงทำให้มีความชอบธรรมสูง

ที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยเพียงบางส่วนที่ทำให้การทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชันของ KPK เป็นที่ยอมรับและประสบผลสำเร็จ

บทความตอนต่อไป จะเจาะลึกถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้งหมด ที่นำไปสู่บทสรุปว่า “การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยและการขจัดคอร์รัปชัน เป็นเรื่องเดียวกัน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้กับคอร์รัปชันที่ได้ค้นพบจากการถอดบทเรียนการปราบคอร์รัปชันของประเทศอินโดนีเซีย