สานฝัน'Start up' ต้องสร้าง ‘สิ่งแวดล้อม’ ให้เอื้อลงทุน

สานฝัน'Start up' ต้องสร้าง ‘สิ่งแวดล้อม’ ให้เอื้อลงทุน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่

 หรือ “Startup” มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นไปอีกขั้นเมื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศตั้งกองทุน “Startup Center” โดยให้กระทรวงการคลังใส่เงินประเดิม 3 - 4 พันล้านบาท รวมทั้งดึงแบงก์รัฐ 3 แห่งมาร่วมลงขันปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแห่งละ 2 พันล้านบาท ทำให้โดยรวมกองทุนฯ Thailand Start up จะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

เป็นการหาทางออกสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจแต่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

นโยบายการสร้างผู้ประกอบการ Start up ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “นักรบเศรษฐกิจ” ออกไปบุกตลาดต่างประเทศ ต้องมี “สิ่งใหม่” ไปนำเสนอให้ผู้บริโภคในตลาดโลกพิจารณาและตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนในอนาคต

เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าใน 15 ปีที่ผ่านมาธุรกิจ Start up ซึ่งใช้ไอเดีย และเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคญในการสร้างธุรกิจ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉพาะในสหรัฐ มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทชั้นนำอย่าง Apple, Google, Amazon, Facebook, Twitter ฯลฯไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น แต่ยังสร้างการจ้างงานในสหรัฐนับล้านตำแหน่งขณะที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก

ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ม.ค.ปี 2559 เว็บไซด์ของนิตยาสาร Fortune ได้จัดอันดับธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าทางธุรกิจตั้งแต่ 1,0000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป หรือที่มีชื่อเรียกว่าธุรกิจกลุ่ม “Unicon Club” โดยบริษัท Uber เจ้าของแอฟลิเคชั่นแท็กซี่อูเบอร์ครองอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 62 พันล้านดอลลาร์ อันดับสองเป็นของบริษัท Xiaomai ผู้ผลิตมือถือรายใหญ่จากประเทศจีนด้วยมูลค่า 46 พันล้านดอลลาร์ อันดับสามตกเป็นของ Airbnb ผู้ให้บริการธุรกิจจัดหาที่พัก ปัจจุบันมีสินทรัพย์ประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์ อันดับ 4 บริษัท Palantir ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชันและโปรแกรม

การเกิดขึ้นของธุรกิจ Startup ในต่างประเทศที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง นอกจากปัจจัยเรื่องเงินทุนสนับสนุนทั้งรูปแบบกองทุนร่วมลงทุน หรือการลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยแต่กระจายไปในหลายธุรกิจที่เรียกว่า “Angle Fund”

ยังมีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญไม่แพ้กัน เรียกโดยรวมว่า “Start up Ecosystem” หรือการสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดขึ้นของธุรกิจ Start up

จากการศึกษาของ “Spark Labs Golbal Venture” ผู้ให้คำปรึกษาและร่วมลงทุนกับธุรกิจ Start up ที่มีแนวโน้มเติบโต พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่หลายแห่งในโลกที่มีปัจจัยเอื้อให้เกิด Startup และมีการจัดอันดับโดยวัดจากจำนวนธุรกิจที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์พบว่า Silicon Valley ในสหรัฐยังคงครองอันดับ 1 มีผลผลิตStartup ระดับพันล้านดอลลาร์กว่า 75 ราย ตามมาด้วยนิวยอร์ก ซิตี้,ลอนดอน,กรุงสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน,กรุงเบอร์ลิน ของเยอรมัน,กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสลาเอล,กรุงปักกิ่ง ,กรุงโซล และนครลอสแองเอเจลิส

Spark Labs ยังสรุปด้วยว่าองค์ประกอบหรือสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิด Startup ระดับพันล้านดอลลาร์ แม้จะต้องมีปัจจัยจากการส่งเสริมทางด้านการเงิน เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ 

ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยอีกมากมาย ได้แก่ กฎหมายและนโยบายภาครัฐที่สนับสนุน การมีวิศวกรและทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ให้การซับพอร์ตอย่างเพียงพอ การมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคนิค เทคโนโลยี การให้ความรู้ และช่วยพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการมีวัฒนธรรมแบบ Start up ที่ชื่นชอบความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม กล้าริเริ่มสิ่งใหม่โดยไม่กลัวความล้มเหลว ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความสำเร็จของ Start up

...หันกลับมามองประเทศไทย การสานฝันสร้าง Start up สัญชาติไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก มีอะไรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันอีกมากมายทีเดียว