จรวด-เจรจา-ปัญหาใต้ โปรดระวังรบผิดสมรภูมิ!

จรวด-เจรจา-ปัญหาใต้ โปรดระวังรบผิดสมรภูมิ!

แม้ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ต่อเนื่องมาจะมีเหตุการณ์

ความไม่สงบเกิดขึ้นค่อนข้างถี่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ต้องยอมรับลดลงกว่าแต่ก่อนมาก ตามการยืนยันของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และรัฐบาล

หลายเสียง... โดยเฉพาะกลุ่มหนุนเจรจา... อาจรีบสรุปว่าเป็นผลสำเร็จ จากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลไทย ตั้งคณะทำงานไปพูดคุยกับกลุ่ม"มารา ปาตานี

แต่หากพิจารณาบทวิเคราะห์ของหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหารแล้ว กลับให้น้ำหนัก การพูดคุย ค่อนข้างน้อย

โดยมองปัจจัยที่หนุนเสริมให้เหตุรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีอยู่ 3 ปัจจัย คือ

1. รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลทหาร เข้าใจงานยุทธการเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเป็นพิเศษ มีการจัดสายการบังคับบัญชาใหม่อย่างค่อนข้างเป็นเอกภาพ

2. มาตรการด้านการทหารในการควบคุมพื้นที่ดีขึ้นมาก มีการใช้ทหารพรานซึ่งบรรจุจากคนในพื้นที่เข้ามาร่วมปฏิบัติการ โดยปัจจุบันมีทหารพรานมากถึง 14 กรม กระจายกันอยู่ในทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 33 อำเภอ

3. ด้านการเอาชนะจิตใจประชาชน ทำได้ดีขึ้นตั้งแต่ กอ.รมน.เข้ามามีบทบาทนำอย่างแท้จริง หลังรัฐประหารปี 2557 มีการปรับแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนมากขึ้น

มีประเด็นที่น่าพิจารณา คือ การที่สถิติเหตุรุนแรงลดลง แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเพราะฝ่ายกองกำลังของรัฐสามารถคุมพื้นที่ได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะฝ่ายต่อต้านรัฐไม่ได้มุ่งก่อเหตุเป็นภารกิจหลักเหมือนที่ผ่านมาด้วยหรือเปล่า เนื่องจากพวกเขายังมีขีดความสามารถในการก่อเหตุได้

เพราะทันทีที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทลายฐานฝึก ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งประกอบวัตถุระเบิดแหล่งใหญ่ ในป่าโกงกางริมทะเลที่ตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.พ. จากนั้นก็มีเหตุรุนแรงในลักษณะตอบโต้เกิดขึ้นถี่ยิบ ทั้งระเบิดที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส 

ขณะที่ในพื้นที่ อ.หนองจิก เอง นอกจากมีเหตุระเบิดแล้ว ก็ยังมีเหตุเผาโรงเรียน เผายางรถยนต์บนถนนและในปั๊มน้ำมัน ส่วนที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีเหตุปล้นรถสิบล้อขนข้าวสาร ชิงเงินเกือบ 2 แสนบาท พร้อมเจาะจงสังหารโชเฟอร์คนไทยพุทธ ส่วนคนในรถที่เป็นมุสลิม ปล่อยให้วิ่งหนีโดยไม่ทำร้าย

นี่คือภาพสะท้อนที่เด่นชัดว่า ฝ่ายรัฐยังไม่ได้จัดการปัญหาการก่อเหตุรุนแรงได้อย่างยั่งยืน และฝ่ายต่อต้านรัฐก็ยังมีศักยภาพที่จะก่อเหตุได้ตลอดเวลา

คำถามที่น่าคิดก็คือว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่เร่งก่อเหตุ?

ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม มารา ปาตานี เป็นจังหวะก้าวการต่อสู้ทางการเมืองที่น่าหยิบมาพิจารณาไม่น้อย เพราะแม้การพูดคุยกับคณะทำงานของรัฐบาลไทยจะไม่คืบหน้า ทว่าการขับเคลื่อนของ มารา ปาตานี กลับรุดหน้าไปมาก

ไม่ว่าจะเป็นการชิงจังหวะเข้าพบเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ระหว่างเดินทางเยือนมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค. แล้วยื่นขอสถานะเป็น ผู้สังเกตการณ์ในโอไอซี ซึ่งเป็นสถานะเดียวกับรัฐบาลไทย

หรือการเปิดตัวของ จรวดแสวงเครื่อง ที่พบในปัตตานีและนราธิวาส ปรากฏชื่อกลุ่ม พูโล เอ็มเคพี ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มารา ปาตานี โดยระบุว่าและกำลังพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ ลบคำปรามาสว่าพวกเขาเป็นตัวปลอม ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงไทยพยายามปฏิเสธอานุภาพของจรวดแสวงเครื่องดังกล่าว

ท่ามกลางการพูดคุยโต๊ะใหญ่อย่างเป็นทางการ ที่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เสมือนไม่ให้พื้นที่ข่าวสารความคืบหน้าการเจรจาแก่ฝ่ายรัฐบาลไทย แต่กลับมีข่าวสารความเคลื่อนไหวยกระดับตัวเองของ มารา ปาตานี

และใครที่คิดว่า มารา ปาตานี ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็น อาจต้องคิดใหม่ เพราะบีอาร์เอ็นที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า มีบทบาทสูงสุดต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ตลอดสิบกว่าปีหลังนั้น อาจรอฉวยจังหวะที่ได้เปรียบก็เป็นได้

28 กุมภาพันธ์นี้ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดงานในวาระ 3 ปีพูดคุยดับไฟใต้ มีข่าวว่า อาวัง ยาบะ อาจพูดผ่านคลิปวีดีโอให้ได้รับฟังกัน นี่ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ที่ยังคงเดินสายเปิดเวทีกันตามชุมชน หมู่บ้าน

เป็นไปได้ไหมที่การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านรัฐ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้หายไป แต่สมรภูมิมันกำลังเคลื่อนจากการก่อเหตุรุนแรงไปยังสมรภูมิการเมืองที่เข้มข้น

การยืนยันว่าสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ดีขึ้น เพราะเสียงปืน เสียงระเบิดลดลง ต้องระวังเป็นการต่อสู้ผิดสมรภูมิ!