ประสานพลังรัฐ-เอกชน เดินถูกทางหนุนสตาร์ทอัพ

ประสานพลังรัฐ-เอกชน เดินถูกทางหนุนสตาร์ทอัพ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

 ได้เป็นประธานลงนามความร่วมมือ “พลังประชารัฐ” โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ 3 กรอบหลัก คือ เอสเอ็มอี, สตาร์ทอัพและโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรซ์ วานนี้(10ก.พ.) โดยกล่าวว่า ความเข้าใจเรื่องเอสเอ็มอีในปัจจุบัน เริ่มมีกลุ่มคนที่เข้าใจมากขึ้น จากที่ผ่านมามองเป็นส่วนประกอบเล็กน้อยของประเทศ แต่เชื่อว่าภารกิจสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี นอกจากจะต้องใช้ความเข้าใจแล้วต้องช่วยขับเคลื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากมีทีมเศรษฐกิจที่ดี และผู้นำที่เข้าใจแล้ว การได้รับความร่วมมือจากส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาต่างๆ รวม 66 องค์กร ร่วมกันจะเพิ่มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถ ให้แข่งขันในระดับประเทศได้ ประเทศที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ คือประเทศที่ต้องมีพร้อมทั้งความคิดใหม่ๆให้เกิดขึ้นทุกวัน และผู้แปรความคิดให้สร้างมูลค่าขึ้นมาได้ ซึ่งนโยบายวันนี้คือ ต้องเริ่มจากการผลักดันให้ไทยเป็นสังคมแห่งความคิดใหม่ๆ โดยมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้น

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะจัดตั้ง “สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์” เป็นศูนย์กลางระดมสตาร์ทอัพทั่วประเทศให้มาจดทะเบียน เพื่อรู้จำนวนสตาร์ทอัพ และพัฒนานโยบายรองรับความต้องการ พร้อมทั้งหาแหล่งร่วมทุนหากต้องการซึ่งเริ่มต้นกระทรวงการคลังมีทุนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท ร่วมกับเอสเอ็มอี แบงก์ และธนาคารออมสินอีกรายละ 3 พันล้านบาทเพื่อเป็นกองทุนงวดแรกที่พร้อมเข้าไปเกื้อหนุนหากสตาร์ทอัพต้องการ ขณะที่ภาคการศึกษาก็จะเข้ามามีส่วนปรับปรุงหลักสูตร เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยให้มากขึ้น จากเดิมที่มีแค่หลักสูตรเอ็มบีเพื่อป้อนบริษัทใหญ่เท่านั้น ส่วนกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็จะทำหน้าที่เป็นหลักในด้านต่างๆ เช่น กระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก

เมื่อเกิดสตาร์ทอัพขึ้นมาแล้ว จากนั้นทุกภาคส่วนต้องไม่เพิกเฉย ปล่อยปละละเลย แต่ต้องช่วยเหลือทุกอย่างที่สตาร์ทอัพต้องการ ทั้งเงินทุน หรือการจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษีให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ เหมือนพี่จูงน้องในทางที่ถูกต้อง ไม่เข้ามากลืนกิน ตลอดจนองค์ประกอบทางกฎหมายหรือระเบียบที่จะปรับแก้ให้เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพยืนขึ้นมาได้โดยรัฐบาลวางเป้าหมายให้เกิดสตาร์ทอัพในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร หรือการบริการ และในไม่ช้าจะเกิด 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร เพื่อสร้างนักรบเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการได้ 

แผนงานเบื้องต้นของรัฐบาลเรียกได้ว่ามาถูกทาง ซึ่งประเทศจะพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ ต้องมีผู้ประกอบการจำนวนมาก เป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก จะปล่อยให้รายใหญ่เติบโตขึ้นๆ ขณะที่รายเล็ก คนรุ่นใหม่มีแนวคิดดีๆกล้าที่จะลองผิดลองถูกต้องล้มตายไปตามลำพังคงไม่ใช่แนวคิดที่ชาญฉลาด ฉะนั้นการระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน และมีนโยบาย กฎระเบียบที่ชัดเจนจากรัฐคอยเกื้อหนุน โอกาสทางธุรกิจของสตาร์ทอัพน่าจะสดใส ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไป จากจุดเริ่มต้นที่ส่งสัญญาณดีจะสานฝันเสริมแกร่งสตาร์ทอัพสู่ปลายทางได้เพียงใด