‘ทางออก’ หลังร่างรธน.ถูกคว่ำ

‘ทางออก’ หลังร่างรธน.ถูกคว่ำ

ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ถูกมองข้ามช็อต

 “เนื้อหาสาระ” ไปถึงการลงคะแนนประชามติ ที่จะมีขึ้นปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และยังมองข้ามไปถึงกรณีประชามติ“ถูกคว่ำ”

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ.ยืนยันมาตลอดว่ามี “ทางออก” โดยเป็นไปได้ทั้งการยกเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาปรับใช้ แต่จะต้องใส่รายละเอียด “การจัดการเลือกตั้ง” ที่ไม่ได้เขียนไว้ลงไปเสียก่อน

รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังถูกตีความว่าอาจเป็นร่างรธน. ที่นายกฯ ร่างขึ้นมาเอง โดยมีสาระสำคัญเพียงไม่กี่มาตรา

รัฐบาลเคยหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันบ้างแล้วหลายครั้งอย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป

แม้ว่าล่าสุดความเห็นของรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม จะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น แต่ก็กลับมองเห็นความเป็นไปได้น้อยลง

กรณียังคงนำร่างรธน.“ฉบับมีชัย”มาปรับแก้ หากแพ้“โหวต”ไม่ถึงล้านเสียง บนพื้นฐานที่เชื่อว่ายังมีประชาชนจำนวนมาก“เห็นด้วย”

เชื่อว่า กรธ.ก็ดี คสช.ก็ดี รัฐบาลก็ดี รู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคม รวมถึงแนวร่วมกลุ่มการเมืองไม่ยอมรับ จนนำมาซึ่งการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และน่าจะสามารถแก้ไขได้“ตรงเป้า”

ส่วนกรณีเสียง“คว่ำ”เกินกว่าล้านเสียง ที่รองฯวิษณุ เห็นว่าจะต้องหยิบรัฐธรรมนูญเก่ามา“ปัดฝุ่น”

ตรงนี้ต่างหากที่น่ากังวลจะเกิดปัญหา เพราะเพียงแค่“แย้ม”ความเห็นออกมา ก็มีเสียงคัดค้านจากทั้ง 2 ขั้วการเมือง

เพราะทั้ง รธน.2540” และ รธน.2550” ต่างเป็นรัฐธรรมนูญที่คน 2 ฝ่ายทำตัวเป็นเจ้าของ

เมื่อคราวร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรโณ ถูกคว่ำ“คนเสื้อแดง”และแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาเรียกร้องให้นำร่างรธน.ฉบับปี 2540 กลับมาใช้ทันที เพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทาง“ประชาธิปไตย” 

รวมทั้งยังเป็นประเด็นที่ถูก“ฉายซ้ำ”บนเวที รวมทั้งทำป้าย ติดสติกเกอร์เรียกร้องเต็มบ้านเต็มเมืองในช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. โดยชี้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เกิดจากการเรียกร้องของประชาชน ผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญมาจากตัวแทนของประชาชนทุกจังหวัด และสะท้อนความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ

รวมทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นมา“ทดแทน” รัฐธรรมนูญปี 2534 ที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

ในขณะเดียวกันก็มีความชัดเจนว่ากลุ่มผู้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับไล่ ระบอบทักษิณ อย่างเช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมไปถึงบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย และนิสิต นักศึกษาบางส่วน เพื่อลดทอนอำนาจผู้นำรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญเดิม ที่เห็นว่ามี“ล้นเหลือ”จนนำไปสู่เรื่อง“มิชอบ”หลายเรื่อง

ดังนั้นทางออกในกรณีร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติจึงไม่ใช่“ทางสะดวก”

ที่สำคัญสุ่มเสี่ยงต่อการจุดชนวนความขัดแย้ง ของกลุ่มที่ยังเห็นต่างอย่างชัดเจน

เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นคลาสสิคในการผสมผสาน“ข้อดี” ของรธน.เก่าทั้ง 2 ฉบับ หรืออาจรวมไปถึงร่าง รธน.ฉบับบวรศักดิ์ และร่างรธน.ฉบับมีชัย

เพราะรธน.2540 ก็ได้ชื่อว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ขณะที่รธน.2550 มีการควบคุมและจัดระบบอำนาจสามฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ไว้อย่างเรียบร้อย รวมไปถึงที่มาของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) และอำนาจในการถอดถอน ที่กำหนดเอาไว้ค่อนข้างดี

สาระสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่เจตนาและการชั่งน้ำหนักของผู้ร่างรธน. ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติเดินหน้า ทำอย่างไรให้เป็นที่พอใจ(ตามสมควร)ของทุกฝ่าย 

รวมทั้งพิจารณาการทำให้สังคมเชื่อว่ามีความพยายามสกัดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะได้คุ้มเสียหรือไม่ !!!