รับน้องใหม่สนามแข่ง 4จี กับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต้องจับตา

รับน้องใหม่สนามแข่ง 4จี กับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต้องจับตา

หลังการประมูลคลื่น 4จีย่าน 1,800 และ 900 เมกะเฮิทซ์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมาสิ้นสุดลงด้วยเงินประมูลสูงสุดเป็นประวัติการณ์

พลิกโฉมประวัติศาสตร์การประมูลของประเทศไทย และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการแข่งขันที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร

เมื่อสนามแข่งประมูลสิ้นสุดลง สนามแข่งขันทางการตลาดก็เริ่มเข้มข้นขึ้นทุกขณะค่ายมือถือต่างงัดกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าอย่างเต็มกำลัง ทำให้ราคาที่ให้บริการกับผู้ใช้งานถูกลงกว่าแพ็คเกจ 3จี แม้ราคาคลื่นความถี่ที่ประมูลกันจะแพงกว่าคลื่น 3จีอย่างมาก จนมูลค่าประมูลของไทยแพงติดอันดับโลก

ประเด็นนี้ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า การประมูลคลื่นราคาแพงนั้นไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเสียหายอย่างที่มีข้อกังวลแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การแข่งขันที่รุนแรงยังทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ได้ใช้บริการในราคาที่ถูกลง และเป็นช่องทางการหารายได้สำหรับภาครัฐ ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการขึ้นภาษีต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วผู้บริโภคมักจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระ

ต่อจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการค่ายมือถือและสาธารณะจับจ้องอย่างไม่ละสายตา คือผู้เล่นในสนามรายใหม่ หรือแจส โมบาย ในการฟาดฟันกับค่ายมือถือรุ่นพี่ 3เจ้า ซึ่งแจส โมบาย ก็ไม่เคยทำธุรกิจด้านนี้โดยตรงมาก่อน แต่ก็ยืนหยัด ประกาศแผนการทำธุรกิจของตนว่าจะต่อยอดจากฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ต 3BB ที่มีอยู่ในมือ 2 ล้านราย โดยเสนอโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่างๆ เนื่องจากแจส โมบาย มีจุดขายผลิตภัณฑ์ คือ การให้บริการที่ครบวงจรอยู่แล้ว การต่อยอดฐานลูกค้าเดิมก็ใช่ว่าจะไม่พบเจออุปสรรค เพราะลูกค้า 3BB ที่อยู่ในมือ 2 ล้านรายเหล่านั้น เป็นลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ 3 ค่ายใหญ่เช่นกัน ดังนั้นการจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้บริการของตนจึงเป็นความท้าทายอย่างมาก

แต่เรื่องที่อาจท้าทายยิ่งกว่าก็คือ แจส โมบายจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการจ่ายค่าใบอนุญาต ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือเช่าเสาสัญญาณในระยะแรกเพื่อให้บริการลูกค้าได้ทำให้ แจส โมบาย ต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ขณะที่บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนมากกว่า 2 เท่าซึ่งยากที่ธนาคารพาณิชย์รายใดจะปล่อยกู้ให้แก่บริษัทได้โดยง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดกระแสข่าวลือว่า แจส โมบาย อาจคืนใบอนุญาต เพราะไม่สามารถหาแบงก์การันตีได้ทัน เรื่องนี้หากเกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อทั้งผู้บริโภค และนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่

หากบริษัทตัดสินใจคืนใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิทซ์ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ กสทช. ว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรกับใบอนุญาต การจัดประมูลซ่อมทันที อาจดูเป็นหนทางที่ช่วยลดผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ดีที่สุด เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการประมูลนั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดตลาดการบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในอีกทางหนึ่ง หากยอมให้เกิดการเบี้ยวค่าประมูลแล้วจัดสรรคลื่นใหม่ทันที อาจเป็นการสร้าง มาตรฐานในการไม่ชำระค่าประมูลเมื่อราคาแพงเกินที่จะจ่ายไหว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้การประมูลครั้งอื่นๆ ในอนาคตไม่สะท้อนมูลค่าคลื่นที่แท้จริง และทำให้คลื่นไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ดี

ในระหว่างนี้ กสทช. ก็คงทำได้แค่ขู่ด้วยบทลงโทษต่างๆ นาๆ เพื่อให้ไม่เกิดการเบี้ยวค่าประมูลขึ้นจริง แต่ในอนาคต กสทช. จะต้องคิดเงื่อนไขการประมูลให้รัดกุมขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการไม่ชำระค่าประมูล เช่น สิทธิในการโอนเปลี่ยนมือเจ้าของใบอนุญาต เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นเดียวกับในกรณีของดิจิทัล ทีวี ที่เกิดปัญหาจอดำไปแล้ว 2 ช่องและมีข่าวว่าอาจจะดำเนินรอยตามอีก 5 ช่อง

วิธีการประมูลเป็นวิธีการจัดสรรคลื่นความที่โปร่งใสและได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่รูปแบบอื่น เพราะฉะนั้น กสทช. จะต้องทำงานหนักเพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาด รู้ทันกลยุทธ์ของนักธุรกิจ และพัฒนาการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งคลื่นย่าน 900 1800 2300 และ 2600 เมกะเฮิทซ์ ที่จะทยอยประมูลในอนาคตอันใกล้

ในฝั่งนโยบาย ภาครัฐต้องให้ความชัดเจนเรื่องความเป็นเจ้าของ และมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ภายใต้หลักการสำคัญคือ การจัดการให้ทรัพยากรถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาครัฐจะต้องจัดการกับเกมการแย่งชิงคลื่นความถี่ของรัฐวิสาหกิจให้เด็ดขาด เพราะการให้รัฐวิสาหกิจกอดคลื่นความถี่เอาไว้ในมือโดยไม่ได้ทำอะไร หรือทำแล้วก็ไม่มีประสิทธิภาพจนแทบไม่มีผู้ใช้บริการ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

-----------------

ฉัตร คำแสง