เมื่อสมาธิสั้นลง

เมื่อสมาธิสั้นลง

ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมไหมครับที่ในช่วงระยะหลังเราจะมีความรู้สึกว่าสมาธิของเราจะสั้นลง

(โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิในการทำงาน) การที่เราจะให้ความสนใจในงานหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน (อย่างน้อยยี่สิบนาทีติดต่อกัน) โดยไม่ถูกรบกวนกลายเป็นสิ่งที่ยากลำบากและท้าทายมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เรารู้สึกว่าเรามีความสามารถที่จะทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมกันและทำได้สำเร็จ (Multitasking) ไม่ว่าจะอ่านบทความตอบอีเมลอ่านไลน์ตอบไลน์ดื่มกาแฟและคุยกับเพื่อนร่วมงานไปพร้อมๆ กันซึ่งจริงๆ ก็รู้อยู่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีครับ

ผมเคยเขียนผ่านบทความนี้มานานและหลายครั้งแล้วว่า สมองของเรานั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน การ multitask นั้นแทนที่จะเป็นสิ่งที่ดีกลับส่งผลเสียเพราะจริงๆ เราไม่ได้ทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันนะครับ เพียงแต่เราเปลี่ยนจากการทำสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลาต่างหากครับ

การที่ท่านกำลังอ่านบทความนี้อยู่แล้วก็เหลือบไปอ่านอีเมลฉบับใหม่ที่เข้ามา จากนั้นเข้าไปอ่านไลน์ล่าสุดตามด้วยการเข้าไปตอบไลน์ที่ค้างไว้ตั้งแต่เมื่อคืนและสุดท้ายกลับมาอ่านบทความนี้ใหม่ ไม่ใช่การอ่านบทความอ่านอีเมลอ่านไลน์ตอบไลน์พร้อมๆ กันนะครับ แต่เป็นการเปลี่ยนกิจกรรมที่ท่านทำอยู่อย่างน้อยสี่ครั้งภายในระยะเวลาอันสั้น

สุดท้ายการเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่ไปมาตลอดเวลาก็จะส่งผลต่อสมาธิในการทำงานของเราครับ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าตนเองเป็นโรคสมาธิสั้นแต่จริงๆ แล้วสมาธิของเราที่สั้นลงนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย แต่เกิดจากการขาดสมาธิในการทำงานจากสภาวะแวดล้อมรอบๆ ตัวเรามากกว่าครับ Dan Ariely อาจารย์ชื่อดังจาก Duke เคยกล่าวไว้ครับว่า โลกปัจจุบันกำลังทำร้ายเราเนื่องจากทุกๆ อย่างรอบๆ ตัวเราพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจจากเราตลอดเวลาไม่ว่าเวลาเดินอยู่ในห้างทุกๆ ร้านก็พยายามเรียกร้องความสนใจจากเราด้วยวิธีการต่างๆ โทรศัพท์และ apps ต่างๆ ก็พยายามเรียกร้องความสนใจจากเราด้วยข้อความหรือสัญญาณเตือนต่างๆ ตลอดเวลาสุดท้ายจึงไม่แปลกใจครับว่าทำไมสมาธิในการทำงานของเราถึงสั้นลงเรื่อยๆ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็มีข้อแนะนำไว้หลายประการครับที่จะทำให้สมาธิในการทำงานของเรากลับมาดีเหมือนเดิม เริ่มจากการฝึกครับ การมีสมาธิในการทำงานนั้น ก็จะต้องได้รับการฝึกฝนเหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อครับ อยู่ดีๆ เราจะไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า “จงมีสมาธิมากขึ้นแล้วสมาธิในการทำงานจะมานะครับ เหมือนๆ กับเราไม่สามารถบอกตัวเองว่า “จงผอม” แล้วเราจะผอมลงนะครับ

นอกจากการฝึกฝนแล้วเมื่อเราจะเริ่มทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ เราก็ควรจะเอาเจ้าสิ่งรบกวนเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในสมองในความคิดเราออกไปเสียให้หมดครับ เพราะขณะที่เราต้องทำงานที่อาศัยสมาธินั้น แต่จิตใจของเราก็ยังกังวลหรือคิดในเรื่องอื่นๆ ไปด้วยก็จะส่งผลต่อสมาธิในการทำงานของเราครับ วิธีการที่ง่ายที่สุดในการทำให้สมองเราโล่งก็คือการจดลงในกระดาษหรือระบบใดก็ได้ เพราะจะทำให้สมองของเราสามารถปล่อยวางในเรื่องดังกล่าวลงไปได้

ต่อมาก็คือการเลือกทำเลที่เหมาะสมครับ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมและทำเลในการทำงานมีต่อสมาธิในการทำงานเป็นอย่างมาก จะต้องเลือกทำเลและสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่จะมีสิ่งที่รบกวนสมาธิของเราน้อยที่สุดครับ ที่สำคัญเราก็ต้องรู้ตัวเองด้วยว่า ณ สถานที่ไหนที่เราทำงานได้อย่างมีสมาธิที่สุดด้วยผมเคยอ่านเจอว่านักเขียนท่านหนึ่งรู้ตัวว่า สถานที่ที่เขาสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุดคือบนเครื่องบินครับ (เชื่อว่าหลายท่านก็เป็น) ดังนั้นเขาจึงจองตั๋วชั้นธุรกิจบินจากอเมริกาไปญี่ปุ่นจากนั้นลงไปจิบกาแฟที่สนามบินนาริตะ และนั่งกลับมาอเมริกา โดยตลอดทั้งขาไปและขากลับเขานั่งเขียนหนังสือเล่มใหม่ของเขาสุดท้ายเที่ยวบิน 36 ชั่วโมงที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตมารบกวนทำให้เขาสามารถเขียนหนังสือเล่มใหม่จบ 1 เล่มครับ (ท่านไหนจะลองนำเคล็ดนี้ไปใช้ดูก็ได้นะครับ)

สุดท้ายคือต้องเลิกเป็นฝ่ายตอบสนองต่อทุกอย่างที่เข้ามาครับ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัจจุบันที่ทุกอย่าง always on และจะมี notification มาเตือนเราเสมอไม่ว่าจะมีอีเมลใหม่เข้ามาไลน์ใหม่เข้ามาข้อความใหม่เข้ามาข่าวใหม่เข้ามา ซึ่งเกือบทุกครั้งที่มีอะไรใหม่เข้ามาเราก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเหลือบตาไปอ่านหรือดูสิ่งที่เข้ามาใหม่ ซึ่งส่งผลต่อสมาธิในการทำงานของเราและยิ่งหลายครั้งเราไปเห็นอีเมลหรือข้อความในบางเรื่องที่ทำเราให้เราต้องคิดมากหรือกังวล ก็จะยิ่งส่งผลต่อสมาธิในการทำงานอีกครับเนื่องจากจะนำไปสู่จิตใจที่ฟุ้งซ่านได้

ดังนั้นลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่า ในปัจจุบันสมาธิในการทำงานของท่านสั้นลงหรือเปล่า และจะสามารถนำแนวคิดในวันนี้ไปช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานบ้างได้ไหม