สื่อไทยกับสิทธิเด็ก และสิทธิของผู้ต้องหา

สื่อไทยกับสิทธิเด็ก และสิทธิของผู้ต้องหา

เด็ก กับ ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาในคดีทางอาญาอาจจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่สำหรับสื่อไทยบางส่วน

ทั้งเด็กและผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาในคดีทางอาญากลับได้รับการปฎิบัติจากสื่อในรูปแบบเดียวกัน เพราะทั้งคู่เป็นกลุ่มที่อ่อนแอและไม่อยู่ในสภาวะที่จะเรียกร้องสิทธิหรือความชอบธรรมใดๆ ให้ตัวเองได้

ขอเริ่มจากสิทธิเด็กก่อน โดยอาศัยกรณีที่ค่อนข้างเป็น “ทอลค์ ออฟ เดอะ ทาวน์” ในช่วงที่เพิ่งผ่านมา

แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความย่อหย่อนทางจริยธรรมของสื่อในกรณีรายงานข่าวงานศพ คุณปอทฤษฎีกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ แต่ยังมีอีกประเด็นที่อาจยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก คือเรื่องของสิทธิเด็กในกรณีลูกสาวคุณปอซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่คุณปอยังป่วยอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว

เท่าที่ระลึกได้ก็น่าจะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในสองระดับด้วยกัน คือระดับนานาชาติ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นอนุสัญญาภายใต้ปฎิญญาและกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้ และระดับชาติได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งออกตามกรอบแนวคิดในอนุสัญญาดังกล่าว

กฎหมายทั้งสองตัวระบุถึงสิทธิในด้านต่างๆ ของเด็ก แต่ด้านที่เห็นได้ชัดเจนว่าสื่อไทยจำนวนหนึ่ง และประชาชนหลายคนที่ไปเยี่ยมและร่วมงานศพคุณปอได้ละเมิดสิทธิของลูกสาวคุณปออย่างชัดเจนก็คือ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งสิทธิทั้งสองส่วนได้ถูกบัญญัติไว้เป็นตัวบทส่วนหนึ่งในหมวดที่ 2 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็ก ในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ว่า “ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

แน่นอนว่า ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และภาพเซลฟี่กับลูกสาวคุณปอในอิริยาบถต่างๆ ทั้งที่ผ่านสื่อสารมวลชนดั้งเดิมและสื่อสังคมออนไลน์ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นโดยที่เด็กน้อยวัยสองขวบสามารถปกป้องตัวเอง และร่วมตัดสินใจเองได้ และก็น่าจะชัดเจนว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ของฝ่ายที่ทำการเก็บภาพเด็กน้อยไป ครั้นจะไปโทษผู้ปกครองคือ ภรรยาของคุณปอว่าไม่พิทักษ์ผลประโยชน์จของลูก ก็น่าจะไม่ยุติธรรมนักเพราะทั้งเธอและครอบครัวคุณปออยู่ในภาวะอันอ่อนไหว ไม่มั่นคง อีกทั้งการที่สามีเป็นดาราและต้องพึ่งพิงนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวสายบันเทิง ย่อมทำให้ไม่กล้าต่อกรหรือแม้แต่ต่อรองกับนักข่าว หรือแฟนคลับที่ห้อมล้อมลูกสาวตัวน้อยก็เลยต้องกลายเป็น “บุคคลสาธารณะ” ให้นักข่าวนำเสนอกันอย่างบันเทิงใจ

ไม่ว่าลูกสาวคุณปอจะยินยอมหรือรู้สึกสนุกสนานไปกับการมีปฏิสัมพันธ์กับนักข่าวหรือแฟนคลับของพ่อและตัวเองหรือไม่ก็ตาม น่าจะไม่ใช่ประเด็นตรงนี้ เพราะผู้ที่มีวัยวุฒิสูงกว่าน่าจะมีวิจารณญาณและสามัญสำนึกว่า สมควรหรือไม่ที่จะมาละเมิดสิทธิของเด็ก แถมยังหลอกใช้แรงงานความน่ารักน่าเอ็นดู และความไร้เดียงสาของเด็ก เพื่อหากินด้วยการสร้างเรทติ้งคนดู เพิ่มจำนวนคนอ่าน หรือ เพื่อสร้างจำนวนกดไลค์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาอันยากลำบากที่ครอบครัวของเด็กกำลังประสบ

ในทำนองเดียวกัน นักข่าวและตำรวจมักร่วมกันละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหา และผู้ต้องหาในคดีทางอาญาด้วยการนำเสนอข่าวที่กระทบสิทธิในลักษณะต่างๆ มีการเผยแพร่ภาพ และการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของคนเหล่านี้ต่อสาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหาย หรือหลักการสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาที่ถือว่า “บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดจริงในการไต่สวนของศาล”

ภาพที่เรามักพบเห็นผ่านสื่อจนชินชา ก็คือ ข่าวการเข้าจับกุม การแถลงข่าวพร้อมของกลางเพื่อแสดงถึงความผิดที่(ถูกกล่าวหาว่ากระทำ) การทำแผนประกอบคำสารภาพ หรือแม้แต่การสอบปากคำโดยตำรวจทั้งๆที่การปฎิบัติเหล่านี้ทั้งหมดผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายหมิ่นประมาท หรือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2550) ว่าด้วยสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการทางยุติธรรม

แม้แต่ในส่วนของตำรวจเอง ก็มีกฎหมายเฉพาะคือคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 855/2548 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ และการเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามนำสื่อมวลชนเข้าไปในขณะทำการตรวจค้นจับกุม ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในห้องสืบสวนและห้องสอบสวน ห้ามถ่ายภาพผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกักขัง หรือระหว่างถูกควบคุมตัว และห้ามทำข่าวเมื่อพนักงานพาผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำสารภาพ

เมื่อการปฏิบัติจริงขัดแย้งกับกฎหมายที่มีโดยตรง จึงออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายที่ได้เห็น ตำรวจซึ่งมีหน้าที่รักษากฎหมายกลับละเลยไม่เคารพกฎหมายเสียเอง นี่ยังไม่รวมข้อเท็จจริงที่ว่าแม้อยู่ในขั้นตอนที่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์หรือการตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุดแล้วจากทางศาลตำรวจก็สามารถเรียกสื่อมาทำข่าวเสมือนว่าผู้ต้องหา และผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีความผิดไปแล้ว

ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็ก ผลกระทบของการเผยแพร่ภาพและข้อมูลในลักษณะดังกล่าวยิ่งเพื่มขึ้นเป็นทวีคูณ หากผู้ถูกกล่าวหาได้รับการตัดสินว่าไม่ผิดในชั้นศาล การถูกประจานผ่านสื่อจากปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างตำรวจกับสื่อ ก็ทำให้เหมือนถูกตัดสินจากสังคมไปแล้ว หรือถ้าผิดจริง การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน ก็เป็นเสมือนการตอกย้ำความผิดในอดีต ทำให้เด็กไม่สามารถจะเริ่มชีวิตใหม่ หรือกลับตัวเป็นคนที่ได้รับการปฏิรูปแล้วได้ เพราะชื่อจริง นามสกุลจริง รูปจริงถูกบันทึกและเผยแพร่ให้เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางผ่านเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

โลกออนไลน์เป็นโลกที่อยู่ยาก เพราะสิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten) โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่จริงอีกต่อไปแล้วได้ถูกประนีประนอมด้วยภาวะของข้อมูลที่จะมีอยู่เสมอและคงอยู่ตลอดไปในฐานข้อมูล และแหล่งบันทึกข้อมูลที่นับวันจะมีลักษณะอันเป็นอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลมากขึ้นเรื่อยๆ และการแชร์ข้อมูลไปในเครือข่ายการสื่อสารออนไลน์ไม่ต้องอาศัยการขออนุญาตใดๆ จากผู้ที่ปรากฏเป็นข่าว

ย้อนกลับมาดูกรณีของลูกสาวคุณปอทฤษฎี คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าอภิรมย์นักหากเธอจะเติบโตขึ้นมาเห็นภาพตัวเองในท่าทีและลีลาต่างๆ ที่ถูก “ลักลอบและ หลอกล่อให้แสดงออกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะที่พ่อของเธอกำลังป่วยหนัก หรือแม้เมื่อได้สิ้นลมลงแล้ว

งานนี้ ไม่ใช่แค่ผิดกฎหมาย ไร้จริยธรรม แต่ยังเป็นการผูกกรรมยุคดิจิทัลอีกด้วย