นโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

 นโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญของไทยฉบับที่บังคับใช้ในอดีตที่ผ่านมา ฉบับที่เริ่มมีหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐบทบัญญัติไว้

คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 บัญญัติไว้เป็นหมวด 5 โดยในมาตรา 54 ระบุว่า เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการตามนโยบายดั่งกำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องรัฐ สำหรับแนวนโยบายในด้านเศรษฐกิจยังไม่ได้แยกไว้เป็นส่วน แต่มีบัญญัติแทรกไว้ในมาตราต่างๆ ประปราย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อฯมา ก็เดินตามแนวทางดังกล่าว จนถึงการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในหมวด 5 เปลี่ยนถ้อยคำที่ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จากคำว่า “แนวนโยบายแห่งรัฐ” เป็น “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ซึ่งก็มีบทบัญญัติแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจหลายมาตรา แต่ยังไม่ได้แยกไว้เป็นส่วนเช่นเคย

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 บทบัญญัติในหมวด 5 นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีการแยกแนวนโยบายออกเป็นส่วน ในด้านต่างๆ รวม 9 ส่วน 9 ด้าน โดยในส่วนที่ 1 บททั่วไปในมาตรา 75 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน” ส่วนวรรคสองบัญญัติว่า “ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง

สำหรับแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ บัญญัติไว้เป็นส่วนที่ 7 มีสองมาตรา คือมาตรา 83 บัญญัติรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาพอเพียง กับมาตรา 85 เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่รัฐต้องดำเนินการ รวม 14 อนุมาตรา

จากแนวนโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา ยาวบ้างสั้นบ้าง หรือแยกเป็นส่วนชัดเจนดังเช่นรัฐธรรมนูญปี 2550 จะถูกกำกับด้วยบทบัญญัติว่า แนวนโยบายตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นแนวทาง หรือเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน มิได้เป็นบทบัญญัติในลักษณะบังคับที่เด็ดขาดที่รัฐต้องดำเนินการหรือละเว้นไม่ดำเนินการ หากปรากฏว่ามีรัฐบาลดำเนินการที่ฝ่าฝืนหรือไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่ามีกลไกหรือองค์กรใดมีอำนาจวินิจฉัยว่า รัฐบาลนั้นฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องยุติการดำเนินการนั้น

ดังที่มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วในสมัยที่มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ปรากฏว่ารัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดในราคาที่สูงกว่าตลาดหนึ่งเท่าตัว มีปัญหาทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล มีหน่วยงานของรัฐและเอกชนมากมายออกมาทักท้วงให้ยุติการดำเนินการโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อแนวนโยบายของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาด เท่ากับเป็นผู้ผูกขาดรับซื้อข้าว และแข่งขันกับเอกชน แต่รัฐบาลก็อ้างว่าต้องดำเนินการต่อไปเพราะเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ต่อมามีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยับยั้งหรือยุติโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 84(1) แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่56/2555 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณายับยั้งหรือยุติโครงการเช่นนี้ได้ ผลที่ตามมาคือรัฐบาลยังคงดำเนินโครงการรับจำข้าวต่อไปจนถูกยึดอำนาจ แต่การดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียหายขาดทุนเป็นเงินไม่น้อยกว่าเจ็ดแสนล้านบาท มีสต๊อกข้าวจำนวน 18 ล้านตันเศษ ทิ้งให้รัฐบาลปัจจุบันต้องสะสางเพื่อระงับความเสียหาย ต่องบประมาณของประเทศและต่อการค้าข้าวของไทย ซึ่งปัจจุบันยังสะสางไม่เสร็จ

ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้มีการตราออกใช้บังคับต่อไป หรือ ”ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยในส่วนแนวนโยบายแห่งรัฐ บัญญัติไว้เป็นหมวด 6 ไม่ได้แยกนโยบายด้านต่างๆ ไว้เป็นส่วน ในมาตรา 60 บัญญัติว่า บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ

แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจบัญญัติไว้รวมสามมาตรา คือ

มาตรา 69 รัฐพึงจัดใหมีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำและสามารถแข่งขันในตลาดได้

มาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทํางาน โดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัย ในการทํางาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อ่ือื่นที่เหมาะสมแก่การดํารงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดํารงชีพเมื่อพ้นวัยทํางาน

มาตรา 71 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทาง เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ ประชาชนและประเทศ

รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดให้มีบริการสาธารณะ“

จากบทบัญญัติแนวนโยบายแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย เนื้อหาสาระก็ไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เท่าใดนัก ที่แตกต่างกันเห็นได้ชัดอยู่ที่รูปแบบเพียงวิธีการเขียน และเมื่อดูเนื้อหาในบทบัญญัติส่วนอื่นๆ รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ปากฎว่ามีการกำหนดกลไกหรือให้อำนาจในการยับยั้ง หรือยุติการดำเนินการโครงการของรัฐบาลที่ฝ่าฝืน หรือไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด