ขันนอตเกียร์ว่าง... ถึงขั้นต้องใช้ ‘อำนาจพิเศษ’?

ขันนอตเกียร์ว่าง... ถึงขั้นต้องใช้ ‘อำนาจพิเศษ’?

ถึงขั้นที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 ต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อให้มีการ “ประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน” ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบราชการปกติโดยสิ้นเชิง 

บางคนตีความว่าคำสั่งนี้เป็น ขันนอต ข้าราชการ

อีกบางคนวิเคราะห์ว่านี่คือการจัดการกับ ข้าราชการเกียร์ว่าง

หากเป้าหมายเป็นเพียงการสร้างความตระหนัก ให้กับข้าราชการว่าต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ หากไม่ทำก็ต้องมีการลงโทษ ก็ไม่น่าจะต้องถึงขั้นใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ควรใช้สำหรับเรื่องที่เร่งด่วน, สำคัญและไม่มีมาตรการปกติอื่นใดที่อยู่ภายใต้อำนาจ ของนายกรัฐมนตรีจะนำมาใช้ให้ได้ผลตามจุดประสงค์แล้ว

อ่านดูคำสั่งนี้แล้วก็เห็นเป็นเรื่องการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน 3 เรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารไปจากการทำงานตามปกติบนพื้นฐานของการ ลงโทษ คนทำงานไม่ได้เรื่องและ ตอบแทน คนทำงานดีและมีประสิทธิภาพ

เพราะ 3 เรื่องนั้นคือ

1. งานตามหน้าที่ปกติ ได้แก่งานตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล

2. งานตามยุทธศาสตร์นโยบายหรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษ แก่บางหน่วยหรือข้าราชการบางตำแหน่งหน้าที่ เช่นภารกิจในการปฏิรูป การสร้างความปรองดอง และการแก้ปัญหาสำคัญเฉพาะเรื่อง

3. งานตามพื้นที่หรือการบูรณาการปฏิบัติงานหลายพื้นที่ หรือหลายหน่วยงานเพื่อผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน เช่นงานที่ต้องประสานและร่วมมือระหว่างจังหวัดระหว่างกรม หรือกระทรวงและงานตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งภาครัฐพึงทำงานร่วมกับท้องถิ่น ภาคประชาชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์

หากว่าตามสามข้อนี้คนที่จะถูกประเมินคือทุกคนในรัฐบาล ไม่ควรจะมีข้อยกเว้น

ยิ่งดูรายละเอียดของ แบบประเมินแล้วก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการประเมินปกติของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน

เช่นมีหัวข้อความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ ความวิริยะอุตสาหะ การอุทิศเวลาแก่ราชการ ประสิทธิภาพในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมาย การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน การปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ความคิดริเริ่ม ความซื่อสัตย์สุจริต การมีธรรมาภิบาลและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการประกอบกัน

ผลการประเมินนั้นให้รองนายกฯ ที่เกี่ยวข้องรายงานผลการประเมินตามคำสั่งนี้ต่อนายกฯ ภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน และเดือนกันยายนเพื่อประกอบการพิจารณา แต่งตั้ง โยกย้ายหรือพิจารณาความดีความชอบ หรือลงโทษตามกฎหมายและระเบียบราชการ

ที่น่าสนใจคือข้อ 4 ที่ให้มีกรอบ อัตรากำลังชั่วคราว เป็น กรณีพิเศษ ในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจำนวน 50 อัตราเพื่อรองรับการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการระดับสูง หรือประเภทบริหารระดับต้นหรือข้าราชการอื่น ที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนแต่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า

โดยให้นายกฯมีอำนาจออกคำสั่งโอนหรือย้ายมา หรือเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นโดยขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือน “ไม่ว่าข้าราชการผู้นั้นจะมีความผิดหรืออยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบหรือไม่ก็ตาม”

ถึงวรรคนี้ก็คงเห็นเป้าหมายของการออกคำสั่งนี้ นั่นคือการหาตำแหน่งเตรียมไว้สำหรับโยกย้ายข้าราชการระดับสูงมา สำรองราชการ เอาไว้โดยนายกฯสามารถทำได้ทันที และไม่จำเป็นต้องให้มีการสอบสวนหรือต้องรอให้มีการพบความผิดเสียก่อน

แต่คำถามคือทำไมจึงเป็น 50 อัตรา? หรือมี บัญชีดำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้สั่งโยกย้ายจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที

การที่ต้องออกคำสั่งมาตรา 44 เรื่องนี้จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่าเป็นการขจัดข้าราชการที่ถูกมองว่า “เกียร์ว่าง” มากกว่าจะเป็นความพยายามที่จะประเมิน ประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ

เพราะถ้าหากการประเมินประสิทธิภาพของข้าราชการต้องใช้  มาตรการพิเศษก็แปลว่าประสิทธิภาพของทั้ง ผู้ประเมินและ ผู้ถูกประเมินอยู่ในภาวะ ไม่ปกติแล้ว!