ไม่อยากถูกเหยียบย่ำ ก็อย่ายุ่งการเมือง

ไม่อยากถูกเหยียบย่ำ ก็อย่ายุ่งการเมือง

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลา ที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 หงุดหงิดสื่อมากที่สุดครั้งหนึ่ง ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศหลัง 22 พ.ค.57 เป็นต้นมา

ประเด็นหลักๆ ที่นำมาซึ่งความหงุดหงิด จนถึงขั้นบริภาษสื่อ และปิดท้ายด้วยการบ่นน้อยใจว่าตัวเอง ไร้ค่า มีอยู่ 2 เรื่อง

หนึ่ง คือ บทความ “ทหารมีไว้ทำไม” ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเผยแพร่มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนนายกฯ ยังคาใจ และพูดถึงอย่างมีอารมณ์ในหลายวาระ บางวาระพูดทำนองว่าทหารถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี (ทั้งๆ ที่เนื้อหาในบทความไม่ได้เป็นเช่นนั้น)

สอง คือ เสียงวิจารณ์จมหูที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น ที่ยกร่างโดยคณะของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ จนเกิดเป็นกระแสรณรงค์ให้คว่ำร่างฯ ในการลงประชามติตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่

หลังๆ สถานการณ์ของรัฐบาลและ คสช.ต้องบอกว่าเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญลดลงเป็นลำดับตามระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ ด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมการเมืองทั่วโลก ที่การบริหารความนิยมเป็นเรื่องยากยิ่งกว่ายาก

ดังคำกล่าวที่ว่าการมีอำนาจทางการเมืองนั้นไม่ยาก (โดยเฉพาะเมืองไทยที่แค่ขับรถถังออกมาก็ได้อำนาจแล้ว) แต่การรักษาอำนาจนั้นไว้ต่างหากที่ยากเหลือเกิน

ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า โลกการเมืองเป็นโลกที่ท่านนายกฯและคณะรัฐบาล ตลอดจน คสช.ซึ่งมีทหารเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย ทำให้การบริหารความนิยมยากมากขึ้นไปอีก

จะว่าไปธรรมชาติของ การเมือง กับ การทหาร ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอยู่แล้ว เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการพูด แสดงความเห็น เจรจาต่อรอง ล็อบบี้ และบริหารความขัดแย้งเพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศชาติดำรงอยู่ได้ โดยไม่สูญเสียไปกับผลประโยชน์ส่วนตนหรือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากเกินไป

ขณะที่ การทหาร ไม่ใช่เรื่องของการแสดงความเห็น แต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพราะการรบในสมรภูมิ ความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงไม่แปลกที่ผู้นำทางทหารมักถนัดสั่ง แต่ไม่ค่อยถนัดฟัง และมีปัญหาเรื่องการสื่อสารแบบยาวๆ กับสังคม

การทหาร จึงมีแต่ความเด็ดเดี่ยว แข็งกร้าว ส่วน การเมือง จะมีความยืดหยุ่นและอ่อนตัวสูงกว่า

บางครั้งที่ การเมือง เสียดุล จึงต้องแก้ด้วยการเมือง และการเรียนรู้ของประชาชน การเลือกใช้กลไก การทหาร เข้ามาแก้การเมือง จึงมีความเสี่ยงอย่างมาก

ยิ่งเมื่อท่านเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไรแตกต่างจากรัฐบาลในอดีตที่ท่านต่อว่า โครงการประชานิยมก็แค่เปลี่ยนแพคเกจใหม่ เรื่องความไม่โปร่งใสก็ถูกตั้งคำถามไม่ต่างกัน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้คะแนนนิยมตก

และเมื่อเข้ามาอยู่ในโลกของการเมือง ก็ต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งคะแนนนิยมเริ่มดิ่ง เสียงวิจารณ์ก็ยิ่งอื้ออึง ทั้งจากฝ่ายที่ไม่ชอบท่านอยู่แล้ว ฝ่ายที่เสียประโยชน์จากแนวทางการบริหารของท่าน รวมทั้งฝ่ายที่เคยสนับสนุนท่านเอง วันนี้ก็เริ่มด่า

เมื่อท่านเลือกใช้วิธีพิเศษเข้ามาเถลิงอำนาจ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และไม่ได้มีฐานเสียงสนับสนุนที่ชัดเจนแน่นอน การถูกวิจารณ์จึงยิ่งหนัก คล้ายถูกรุมกินโต๊ะ และเวลาถูกวิจารณ์ เขาไม่ได้วิจารณ์เฉพาะตัวท่าน เพราะท่านแบกทหารทั้งกองทัพเข้ามาค้ำยันอำนาจท่านด้วย ในนามของ คสช.

พอเสียงวิจารณ์ไม่เข้าหู ท่านก็คิดว่าทหารถูกเหยียบย่ำ ทั้งๆ ที่หากท่านไม่ตัดสินใจดึงทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองตั้งแต่แรก วันนี้ก็คงไม่เกิดสภาพการณ์เช่นนี้

จุดแข็งของทหารในประเทศไทย คือ เป็นสถาบันที่ประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่นมาตลอด และฝ่ายการเมืองก็กลัวทหาร จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4 ทหารจึงควรใช้จุดแข็งนี้ฝ่าวิกฤติการเมืองไทยโดยไม่เข้ามาแทรกแซงทางตรง

คือเป็นตัวคานดุลให้การเมืองสมดุลเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ไม่ใช่ลงมาเป็นผู้เล่นเสียเองแบบนี้

  การรบในสมรภูมิที่ไม่รู้จัก มักนำไปสู่ความพ่ายแพ้เสมอ...