ดอกไม้ร้อยดอกพันดอก บานสะพรั่งได้หรือยัง?

ดอกไม้ร้อยดอกพันดอก บานสะพรั่งได้หรือยัง?

คนร่างบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อสะกัดคนโกง

เข้าการเมืองและการปฏิรูป และมีกลไกเพื่อให้บ้านเมืองมีทางออกหากเกิดวิกฤตอีก

นักการเมืองบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญถอยหลังเข้าคลอง ลดอำนาจประชาชน ซ่อนเงื่อนเพื่อให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อ

รัฐบาลบอกว่าควรจะให้ผ่านประชามติ

นักการเมืองยืนยันว่าจะรณรงค์ให้ คว่ำ” ร่างนี้เพราะหากขืนปล่อยให้ออกมาอย่างนี้บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ

เพียงแค่วลี เป็นหน้าที่ของรัฐ ก็ต่างจากความหมายของ เป็นสิทธิของประชาชน

คนร่างเน้นความรับผิดชอบ แต่นักเคลื่อนไหวบอกว่าเนื้อหาในร่าง เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550

ประธานคณะกรรมการร่างฯ บอกว่าถ้าคิดว่าร่างนี้ “โหด” หากโดนคว่ำจะได้ฉบับที่ โหดกว่านี้อีก

เปรียบเทียบไปถึงความแตกต่าง ระหว่างการกินแฮมเบอร์เกอร์ และฮอตดอกแบบตะวันตก กับการกินข้าวแบบไทย ๆ

ลงท้ายนิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็เป็นประเด็นปัญหาของสังคม

ความเห็นต่างที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ตรงกันข้ามการได้ถกแถลงถึงมุมมองจากคนละทาง ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย

คำถามขณะนี้คือเมื่อฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญได้พูดแล้ว ฝ่ายนักการเมืองได้แสดงจุดยืนคัดค้านแล้ว นักวิชาการได้ให้ความเห็น ทั้งที่เห็นพ้องและคัดค้านแล้ว

คนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศจะมีโอกาสได้รับรู้เนื้อหา คำอธิบาย และความแตกต่างในเนื้อหาสาระ และผลกระทบต่อชีวิตของแต่ละคนแต่ละกลุ่มอย่างไร?

นี่คือคำถามสำคัญกว่าที่นักการเมือง หรือคณะกรรมการร่างฯ จะออกมา แลกหมัด กันด้วยวาทะการเมืองที่ร้อนแรงและมุ่งจะหักล้างกันและกัน

คนทั่วไปที่ต้องการจะเห็นกติกาใหม่ ลดระดับการโกงกินของผู้อาสาเข้ามาทำงานการเมืองก็คงมีไม่น้อย แต่ก็คงต้องการจะรู้ว่ากลไกใหม่ที่ว่านี้จะมีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมาอย่างไร

แน่นอนว่าชาวบ้านก็ต้องกังวลว่า สิทธิเสรีภาพของการเป็นสมาชิกสังคม จะถูกลิดรอนภายใต้เนื้อหาใหม่อย่างไร

และคำว่า มีส่วนร่วม นั้นจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรในทางปฏิบัติ

จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร่างและผู้มีอำนาจ ที่จะต้องชี้แจงอธิบายความทั้ง 270 มาตราในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ให้กับสาธารณชนทุกภาคส่วนได้ฟังอย่างละเอียดรอบด้านด้วยภาษาชาวบ้าน

สื่อจะต้องไม่เพียงสะท้อนความเห็นของนักการเมืองหรือนักวิชาการหรือของนักเคลื่อนไหวที่ล้วนแต่มี “วาระ” ของตนเองเท่านั้น หากแต่จะต้องเปิดกว้างให้ คำถามพื้น ๆ ง่าย ๆ แต่กินความอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ของชาวบ้านได้มีโอกาสถูกนำเสนอเพื่อให้ได้คำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เราถามความเห็นชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่ไกลปืนเที่ยงแล้วหรือยังว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการ จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นคืออย่างไร?

ใครอธิบายได้หรือไม่ว่าสาระแห่งรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปอย่างไร

โดยเฉพาะสมาชิกสังคมที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกข้างทางการเมือง ไม่ต้องการจะเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด และไม่พร้อมที่จะถูกใครชักจูงด้วยวาทะที่สะท้อนเพียงมุมมองของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

ถ้าทุกฝ่ายยืนยันว่าความเห็นของตนคือ “ประชาธิปไตย” มากกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง คำถามจากชายตะเข็บของสังคมกระแสหลัก ก็คงจะเป็นประเด็นว่า แล้วคุณภาพชีวิตของพวกเขา จะกระเตื้องขึ้นจากที่เป็นอยู่ด้วยกติกาชุดใหม่นี้อย่างไร

คำว่า ประชามติต้องหมายถึง มติของประชาอย่างแท้จริง

มิใช่ความเห็นเฉพาะกลุ่มที่แข่งกันตะโกนให้ดังกว่าอีกคนหนึ่งเท่านั้น

“เสียงเงียบงันของคนส่วนใหญ่” กำลังรอคำอธิบายจากทุกฝ่ายเพื่อ “เสียงแท้จริงของปวงประชา” จะไม่ถูกฝ่ายใดจี้เอาไปอ้างเป็นของตนเท่านั้น

ดอกไม้จะบานพร้อมกันร้อยดอกพันดอกได้หรือยัง?

ให้ความเห็นเป็นพันเป็นหมื่นชูช่อแข่งกันด้วยเหตุด้วยผลได้อย่างไร?