มองพม่า มองไทย มองอนาคต

มองพม่า มองไทย มองอนาคต

อาทิตย์ที่แล้ว ผมอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่าไปร่วมงานจัดโดย IFC กลุ่มธนาคารโลก เป็นงานสัมมนาใหญ่

ของภาคธุรกิจพม่าในหัวข้อ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนพม่าโดยธรรมาภิบาลที่ดี” และเชิญผมในฐานะกรรมการผู้อำนวยการไอโอดีไปให้ความเห็นเรื่องธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี จากที่ทางการพม่ากำลังพัฒนาตลาดทุนของประเทศ ได้จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของพม่าเมื่อปลายปีที่แล้ว (Yangon Stock Exchange) ซึ่งจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการปีนี้ การพัฒนาตลาดทุนเป็นนโยบายต่อเนื่องจากการเปิดเสรีระบบธนาคารพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้า การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาตลาดการเงิน เพื่อการระดมเงินทุนระยะยาวของภาคเอกชนพม่าก็คือ ตลาดหุ้น และในการพัฒนาตลาดหุ้นผู้ทำนโยบายพม่าก็ตระหนักว่า ธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้ตลาดหุ้นพม่าเป็นที่ไว้วางใจของนักลงทุนพร้อมจะนำเงินมาลงทุนในพม่า ซึ่งจะสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตของภาคเอกชนพม่า จึงได้จัดการสัมมนาขึ้นเพื่อเปิดประเด็นให้ภาคธุรกิจพม่า ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

ผมไปพม่าปีนี้เหมือนกับกลับไปเยี่ยมพม่าอีกครั้ง หลังที่ได้ไปบ่อยมากช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2012 เพื่อช่วยธนาคารกลางพม่าเตรียมระบบรองรับการเปิดเสรีระบบการเงินของประเทศ ซึ่งหลังการเลือกตั้งปี 2012 และการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเดือนเมษายน เศรษฐกิจของพม่าก็บูมมากจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และจากความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นหลังสหรัฐเริ่มลดทอนมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจหรือ Sanction ที่มีมาตั้งแต่ปี 1997 ทำให้ความมั่นใจในการติดต่อทำธุรกิจกับพม่าเพิ่มสูงขึ้น ผลก็คือเศรษฐกิจพม่าเติบโตเร็วมาก ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.5 จากนั้นมา กระตุ้นโดยการใช้จ่ายในประเทศ การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ

เทียบกับเมื่อสี่ปีที่แล้วก่อนการปฏิรูป วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในนครย่างกุ้งเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนจากผลของการเปิดประเทศ กรุงย่างกุ้งไม่ใช่กรุงย่างกุ้งแบบเดิมที่เงียบและไม่มีชีวิตชีวา แต่เต็มไปด้วยความใหม่ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ ร้านอาหาร โรงแรม ถนนหนทาง ไฟฟ้า แท็กซี่ ระบบโทรคมนาคม และรถยนต์บนท้องถนน ตลอดจนสินค้าที่มีการวางขายทั่วไป ไม่มีสภาพความขาดแคลนสินค้าให้เห็นเหมือนในอดีต สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าในทางวัตถุเศรษฐกิจพม่าได้โตเร็วมากหลังการปฏิรูป ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอย่างน้อยในกรุงย่างกุ้งดีขึ้นด้วย และที่น่าประทับใจก็คือ ท่าทีของภาคเอกชนพม่า ที่มองการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าเป็นโอกาสที่ประเทศพม่าต้องรักษาไว้ไม่ให้ย้อนกลับไปแบบอดีตอีก และต้องการใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาส นำไปสู่การเติบโตของประเทศที่ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

แต่ที่ผมประทับใจมากก็คือ ความใฝ่รู้ของคนหนุ่มสาวชาวพม่าที่อยากจะเรียนรู้ อยากจะเข้าใจสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ให้กับตนเองซึ่งผมเองได้ประสบด้วยตนเองหลายครั้ง เช่น เดือนที่แล้วที่ได้รับเชิญจาก สำนักงาน กลต. พม่า และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่าไปบรรยายพิเศษในหัวข้อความสำคัญของธรรมาภิบาล ซึ่งเปิดกว้างให้สาธารณชนเข้าฟัง ที่ประทับใจก็คือ คำถามที่ได้จากนักธุรกิจหนุ่มสาวพม่าในช่วงถามตอบสะท้อนชัดเจนถึงความรู้ที่มี ความกระตือรือร้นที่อยากรู้ อยากเข้าใจ อยากถาม อยากถกเถียง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของประชากรหนุ่มสาวที่พม่ามีอยู่ขณะนี้

ในทางเศรษฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่เกิดขึ้นในพม่าช่วงสี่ปีที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องยืนยันสองแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ

อย่างแรก คือ การเมืองมีผลมากต่อเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศสามารถสร้างและทำลายเศรษฐกิจของประเทศได้ ในกรณีพม่าชัดเจนว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเศรษฐกิจก็เปลี่ยน และเปลี่ยนเร็วมากจากหน้ามือเป็นหลังมือ การเมืองที่เปลี่ยนไปไปในทางที่ดีขึ้น ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนพม่าในเรื่องสิทธิและความปลอดภัยในทรัพย์สิน ทำให้ความไว้วางใจเกิดขึ้นตามมา นำไปสู่การปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคเอกชนที่มีอยู่ ให้ออกมาลงทุนค้าขาย เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของตนเอง ในเอเชียกรณีเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์หลังยุคมาร์กอส และอินโดนีเซียขณะนี้ก็คล้ายกันคือ เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การเมืองที่ดีสร้างปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจได้ ตรงกันข้าม กรณีพม่าสมัยรัฐบาลทหาร ฟิลิปปินส์ยุคประธานาธิบดีมาร์กอสก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเมืองที่แย่ ที่สามารถทำลายเศรษฐกิจของประเทศได้

สอง คือบทบาทของกลไกตลาดและการแข่งขันที่มีพลังมากต่อเศรษฐกิจ สามารถนำไปสู่การเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจได้อย่างน่าอัศจรรย์ ช่วงก่อนหน้าที่ประเทศพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ธุรกิจในพม่าอยู่ใต้การควบคุมของภาคทางการ เศรษฐกิจไม่มีการเติบโตเพราะประเทศเป็นเชลยกับนโยบายเศรษฐกิจที่บิดเบือนมาก มีแต่นักธุรกิจที่ค้าขายหรือเป็นเครือข่ายของระบบการเมืองเดิมที่ได้ประโยชน์ แต่หลังการปฏิรูปปี 2012 กลไกตลาดเสรีได้สร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับภาคเอกชนในพม่า เหมือนให้แสงแดดธุรกิจในพม่าที่เคยอับเฉาให้บานสะพรั่งและเติบโต นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่อย่างรวดเร็ว และอีกประเด็นที่เห็นชัดกรณีพม่าคือ ประชาชนตอบสนองโอกาสจากความเป็นเสรีของกลไกตลาดเป็นอย่างดี ปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่ได้รวดเร็ว ชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องสามารถสร้างเศรษฐกิจให้โตได้มากแม้ในเวลาอันสั้น

จากนี้ไป คงต้องติดตามว่าพม่าจะสามารถเดินต่อไปได้ดีแค่ไหน เพราะความท้าทายในประเทศต่างๆ ยังมีมาก ในทางการเมืองการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชนพม่า ภาคธุรกิจ และฝ่ายทหารที่ปกครองประเทศพม่า ต่างก็เห็นถึงความสำคัญของระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความชัดเจน ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอำนาจการเมืองอย่างมีกติกา

ในด้านเศรษฐกิจ ปัญหาหลักคือการวางฐานของระบบทุนนิยมและกลไกตลาดให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบการเงิน เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนพม่าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Access to financing) และนำทรัพยากรที่มีอยู่มาพัฒนาประเทศ แต่การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ มีความรู้เป็นปัญหาใหญ่มากของพม่า จากที่การปิดประเทศเป็นเวลานานได้ทำลายองค์ความรู้และความสามารถของคนในพม่า ทำให้เศรษฐกิจขาดแคลนนักธุรกิจมืออาชีพและแรงงานที่มีทักษะ ปัญหานี้นักธุรกิจในพม่าตระหนักดีว่าถ้าไม่แก้ไข โอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังมีอยู่ก็จะเสียไป พร้อมกับสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มีมากขึ้น

ท้ายสุดก็คือด้านสังคม ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่มีอยู่ถึงสิบหกกลุ่มต้องมีการเจรจาปรองดองเพื่อนำเข้าสู่ระบบการเมืองกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง