ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปี 2559 (2)

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองในปี 2559 (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงสาเหตุของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในต้นปีนี้ ทำให้ราคาหุ้นและน้ำมันปรับตัวลงอย่างรุนแรงว่า

น่าจะเกิดจากปัจจัย 3 ประการคือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐซึ่งได้เขียนถึงไปแล้ว โดยในครั้งนี้จะเขียนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนและเรื่องของราคาน้ำมัน

ปัญหาเศรษฐกิจของจีน : อันที่จริงปัญหาเศรษฐกิจของจีนนั้นก็ได้มีการกล่าวถึงกันบ่อยครั้ง จนเป็นที่ทราบกันดีว่ามีสาเหตุหลักจากการที่บริษัทต่างๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมหนักได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเมื่อสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วกดดอกเบี้ยลงต่ำใกล้ศูนย์ก็ทำให้สามารถกู้เงินมาได้เป็นจำนวนมาก เพื่อลงทุนขยายการผลิตเพื่อการส่งออก (investment and export-driven growth) จนกระทั่งหนี้ของจีนโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 230% ของจีดีพี ส่วนใหญ่คือเกือบ 200% เป็นหนี้เอกชน

ปัจจุบันทั้งโลกมีกำลังการผลิตเกินจีนเองก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง/อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่พร้อมกับข้อมูลว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์มาเหลือ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อต้นปีตั้งแต่เปิดทำการวันที่ 4 มกราคม หุ้นจีนปรับตัวลงอย่างหนักอีก แต่ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือการที่ธนาคารกลางของจีนกำหนดค่าเงินหยวนประจำวันให้แข็งค่าขึ้นและเข้าแทรกแซงซื้อเงินหยวนในตลาดฮ่องกง เพื่อสกัดการเก็งกำไรโดยดันให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับเพิ่มขึ้นถึง 60% ผลคือค่าเงินหยวนกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่ง แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าปัญหานี้จะไม่หมดไปด้วยเหตุผล 3 ประการคือ

1.เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในสภาวะชะลอตัว มีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่าจะต้องลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง พร้อมกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆ แต่มาตรการดังกล่าวจะยิ่งทำให้เงินหยวนอ่อนค่าโดยเฉพาะเมื่อสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า หากนึกย้อนหลังไปตอนที่ไทยเผชิญกับการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้นทางการต้องลดสภาพคล่อง ทำให้ดอกเบี้ยในประเทศสูงแม้ในช่วงที่ไอเอ็มเอฟเข้ามาช่วยแก้ปัญหาก็ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อมิให้เงินไหลออก

2.ไอเอ็มเอฟเห็นชอบในหลักการให้นำเงินหยวนมาคำนวณมูลค่าของเอสดีอาร์ (เงินของไอเอ็มเอฟ) เป็นการ ให้เกียรติจีนว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจการเงินของโลก และทำให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลกที่ธนาคารกลางต่างๆ พึงจะนำมาใช้เป็นทุนสำรองได้ แต่เงื่อนไขที่ตามมาคือเงินหยวนจะต้องมีสภาพคล่องสูง มีการใช้อย่างแพร่หลายและที่สำคัญคือค่าเงินจะต้องถูกกำหนดโดยกลไกตลาดเป็นหลัก ทางการจะเข้ามาแทรกแซงและสร้างเงื่อนไขหรือข้อจำกัดโดยพลการไม่ได้ การออกมาตรการต่างๆ เพื่อฝืนกลไกตลาดจึงไม่น่าจะทำได้ในระยะยาวหากจีนต้องการให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก

3.ธนาคารกลางจีนเองก็ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการชี้นำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ประกาศเมื่อ 11 ธ.ค. ว่าจะยกเลิกการผูกค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และกำหนดค่าเงินหยวนจากเงินสกุลหลัก 13 สกุลถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการค้า (ซึ่งรวมถึงเงินบาทด้วย) ตรงนี้นักการเงินจะอ่านเกมได้ว่าเป็นผลมาจากความต้องการลดค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะเป็นที่คาดการณ์กันโดยกว้างขวางว่าญี่ปุ่นและยุโรปจะเพิ่มมาตรการคิวอีในเร็ววันนี้ ทำให้เงินเยนและยูโรอ่อนค่าในปีนี้

ปัญหาคือเมื่อมีการคาดการณ์กันอย่างทั่วไปว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงมาที่ 6.9-7.2 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ (จากประมาณ 6.5 หยวนในขณะนี้) ยากที่คนส่วนใหญ่จะคิดแลกเงินหยวนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีคนจีนไปรอแลกเงินหยวนเป็นดอลลาร์ตามโควตาที่ทางการกำหนด (คือไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์ต่อปี) อย่างเนืองแน่น จนกระทั่งมีข่าวว่าต้องรอนานถึง 4 วัน และทางการได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้สั่งการให้พนักงานชี้แจงกับประชาชนว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องรีบมาขอแลกเงินเต็มจำนวนที่ทางการกำหนด

ประเด็นคือเมื่อเกิดกระแสขึ้นมาแล้วก็ยากที่จะควบคุมได้ แม้ว่าจีนมีทุนสำรองมากถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ยกตัวอย่างว่าเพียงแค่ 3% ของคนจีนที่มีฐานะดีอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งสิ้นกว่า 700 ล้านคน (ตามการประเมินของธนาคารโลก) ก็จะมีคนถึง 21 ล้านคน ซึ่งหากมาขอแลกเต็มโควตา 50,000 ก็จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากและอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อประเทศอื่นๆอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเพราะการลดค่าเงิน ก็คือการส่งออกสภาวะเงินฝืด ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ปัจจุบันก็ฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การอ่อนตัวลงของค่าเงินหยวนก็อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อบริษัทต่างๆ ของจีนที่กู้หนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีความเปราะบางอยู่แล้ว กล่าวคือเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะสะดุดตัวอย่างรุนแรง (hard landing) ได้อีกด้วย ทั้งนี้แม้ว่าจีนจะยืนยันในความแข็งแรงมั่นคงของเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นว่าทางการจีนจะ เอาอยู่นั้นได้ลดถอยลงไปต่างจากเมื่อก่อนครับ