ธุรกิจขายคอนเท้นท์

ธุรกิจขายคอนเท้นท์

ทำไมนักลงทุน โดยเฉพาะแนวปัจจัยพื้นฐานวีไอ ควรต้องเปิดหูเปิดตา ศึกษาเรื่องสื่อดิจิทัลเหล่านี้?

สัปดาห์ก่อน มีโอกาสได้ไปร่วมงาน Digital Content War 2016 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไทจัดโดยอาจารย์ตูนสุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้เชี่ยวชาญการตลาดดิจิทัล ได้เชิญผู้คร่ำหวอดในวงการ Digital Content (สื่อดิจิทัล) ตัวจริงเสียงจริง 3 ท่านทั้งจาก Prime Time ผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่ง ที่เติบโตเร็วที่สุด ,Joox(Sanook) ผู้ให้บริการออนไลน์มิวสิคที่กำลังมาแรงที่สุด และ MEB ผู้ให้บริการ ebookสะดวกซื้อสัญชาติไทยมาเสวนาเปิดหูเปิดตานักศึกษา บุคคลทั่วไป รวมทั้งนักลงทุนเด็กโข่งอย่างผมเอง ที่ไปร่วมฟังกะเขาด้วย

ถามว่า ทำไมนักลงทุน โดยเฉพาะแนวปัจจัยพื้นฐานวีไอ ควรต้องเปิดหูเปิดตา ศึกษาเรื่องสื่อดิจิทัลเหล่านี้? เหตุผลคือ...เพราะโมเดลธุรกิจในโลกนี้กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผนวกเสริมพลังอินเทอร์เน็ต โมเดลธุรกิจที่ไม่เคยเป็นไปได้ จะเป็นไปได้ และจะเติบโตอย่างมากท่านเชื่อหรือไม่ว่า

• ผู้ให้บริการแท๊กซี่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Uber... ไม่มีรถแท๊กซี่เป็นของตัวเองแม้แต่คันเดียว
• เครือข่ายห้องพัก ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ AirBnB...ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน อาคาร ห้องพัก ที่ไหนเลย
• ร้านค้าปลีก ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก คือ Alibaba... ไม่เคยต้องเก็บสินค้าในโกดังแม้แต่ชิ้นเดียว
• เจ้าของสื่อ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก คือ Facebook… ไม่เคยต้องมีคอนเท้นท์ของตัวเองเลย

ด้วยพลังของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ธุรกิจยุคใหม่กำลังท้าทายโลกยุคเก่า แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ผมเชื่อว่า โมเดลธุรกิจใหม่ๆ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตาม ทำความเข้าใจ ก่อนที่ธุรกิจที่เราลงทุนถือหุ้นอยู่จะถูก disruptหรือโดนทำลายจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากแบบเดิมไปสู่สิ่งใหม่

เมื่อสื่อดิจิทัลเริ่มคืบคลานเข้ามาเปลี่ยนอุตสาหกรรมคอนเท้นต์(เนื้อหา)สิ่งนี้จะกระทบชีวิตของผู้คน ทั้งการอ่านหนังสือ ดูหนัง และฟังเพลง การเสพคอนเท้นต์บนสื่อแบบดั้งเดิมที่เราเคยทำกันมาช้านานกำลังจะเปลี่ยนไป นักลงทุนอาจจะต้องจับตามองการเข้ามาของสื่อดิจิทัลและประเมินความน่าสนใจของธุรกิจดั้งเดิมใหม่ เพราะผู้ให้บริการดิจิทัลกำลังเห็นตลาดขนาดใหญ่อย่างชัดเจนขึ้น เห็นโอกาสมากขึ้น การลงสนามแย่งตลาดกับธุรกิจดั้งเดิม ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยกตัวอย่างเช่น

ธุรกิจ E-book E-Magazineอย่างอุ๊กบี หรือ MEB จะทำให้การแข่งขันในสมรภูมิ 'ธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านขายหนังสือ' เป็นอย่างไร? คนยุคปัจจุบันยังใช้เวลาส่วนใหญ่ทุกวัน เสพข้อมูลจากการอ่าน Facebook Twitter และดูภาพจาก Instagram ซึ่งก็ล้วนเข้ามาแย่งเวลาการอ่านของลูกค้าออกไป แถมมีคอนเท้นท์ใหม่ๆให้อ่านทุกวัน และยังฟรี

นี่ไง...ปีที่ผ่านมาสิ่งพิมพ์ นิตยสาร จึงปิดตัวลงไปอย่างมากมาย

ธุรกิจวีดีโอสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix, iFlix, PrimeTime, Play Movies (Google Play) และ Hollywood HD จะทำให้การแข่งขันในสมรภูมิ 'ธุรกิจโรงหนัง ช่องทีวีดิจิทัล และเคเบิ้ลทีวี' เป็นอย่างไร? ในยามที่เด็กยุคใหม่กำลังปฏิเสธการเสพรายการโทรทัศน์ที่จัดผังรายการมาตายตัว ตามวันเวลาที่ช่องกำหนด มาเป็นการเสพย้อนหลัง ทุกที่ ทุกเวลา ตามที่ผู้บริโภคกำหนด ผ่านการดูหนังดูซีรีย์ดูข่าวออนไลน์ ที่สามารถดูคอนเท้นท์ที่ชอบได้ทั้งวันทั้งคืน

นี่ไง..ช่องรายการทีวีดิจิตอลหลายช่อง ถึงได้ประสบความยากลำบาก กระทั่งหยุดออกอากาศในบางช่อง

ธุรกิจมิวสิคสตรีมมิ่ง อย่าง Joox, Deezer, และ KKbox จะทำให้การแข่งขันในสมรภูมิ 'ธุรกิจค่ายเพลง ช่องวิทยุ' เป็นอย่างไร? ในยามที่คนรุ่นใหม่กำลังตื่นตัวกับการฟังเพลงสตรีมมิ่ง ผ่าน Playlist ที่หลากหลาย ดึงดูดงบโฆษณาที่แปลกใหม่ ท้าทายสื่อรุ่นเก่าอย่างน่าสนใจ
นี่ไง..ช่องรายการวิทยุ และค่ายเพลง ถึงต้องประสบความยากลำบาก เอเจนซี่กำลังงุนงงและไม่แน่ใจ กับการแบ่งเงินซื้อโฆษณาจากสื่อเก่า

โมเดลธุรกิจใด คือผู้ที่จะได้ไปต่อ ไปสู่ความสำเร็จ เติบโตสร้าง S-Curve ใหม่ในสมรภูมิสื่อดิจิทัล?

สงครามแย่งชิงรายได้ ระหว่างสื่อรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

โดยมีอนาคตของกิจการเป็นเดิมพัน