เจรจารถไฟไทย-จีน :

เจรจารถไฟไทย-จีน :

ลบความ ‘กระอักกระอ่วน’ ด้วยความโปร่งใส

ดูเหมือนการเจรจา โครงการรถไฟไทย-จีน จะยังหาข้อสรุปไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ออกข่าวมาระยะหนึ่งเสมือนว่าทุกอย่างจะลงตัว แต่หลังสุดรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้คนไทยทั่วไปได้เห็น

นั่นคือจีนต้องรับหลักการใหญ่ก่อน อันหมายถึงการตั้งบริษัทร่วมทุน จากนั้นจึงมาพูดเรื่องรายละเอียด

ทำให้หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้งุนงงเล็กน้อย นึกว่าที่ผ่านมามีการพูดจากันชัดเจน ถึงขั้นจะลงมือสร้างกันแล้วในเร็ว ๆ วัน

ประเด็นหลักสองเรื่องที่ว่ากันว่าต้องเจรจากัน คือยอดเงินลงทุนที่ไทยวางไว้ 400,000 กว่าล้าน และฝ่ายจีนเสนอมาที่ 500,000 กว่าล้าน

และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จีนเสนอมาที่ 2.5% แต่ไทยขอให้ลดลงเหลือ 2% เพราะญี่ปุ่นเสนอต่ำกว่านั้น แต่ฝ่ายจีนยืนยันว่าถูกที่สุดแล้ว แต่ก็พร้อมจะพูดจาให้ได้ประโยชน์ทั้งคู่

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดร. สมคิดเปิดประเด็นใหม่

โดยบอกว่าได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีคมนาคม เดินทางไปเจรจาโครงการรถไฟไทย-จีน กับฝ่ายจีน โดยที่ฝ่ายไทยต้องการให้ฝ่ายจีนรับหลักการใหญ่ที่ไทยเสนอก่อน นั่นคือตั้ง บริษัทร่วมทุนร่วมกัน

ถ้าตกลงหลักการนี้ได้ จึงพูดถึงสัดส่วนการถือหุ้น

การทำงานใหญ่จะต้องเอาองค์กรให้เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยมาคุยกันในรายละเอียด ถ้ามัวแต่พูดว่าดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ มันจะเกิดได้อย่างไร? ให้ข้างล่างทะเลาะกัน ข้างบนก็ไม่จบสักที อย่างนี้ไม่ได้...” รองนายกฯสมคิดบอกนักข่าว

และเสริมต่อว่าได้ ฟ้องทูตจีนไปแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ฝั่งโน้นก็รู้เรื่องและอยากให้จบ จะได้เดินต่อ

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ฟังจากอธิบายของคุณสมคิดแล้วก็จะเข้าใจว่าฝ่ายไทยต้องการให้จีนรับผิดชอบต้นทุนการลงทุนโครงการร่วมกับฝ่ายไทยที่เรียกว่า cover cost ไม่ใช่ให้ฝ่ายจีนร่วมทุนเฉพาะการเดินรถเพียงอย่างเดียว

“ได้บอกกับทางจีนไปว่า หากคุณเริ่มเมื่อไหร่ ผมก็จะไปเมื่อนั้น ซึ่งจีนอยากให้ไทยไปเยือนมาก แต่ก็ได้แจ้งไปว่าขอให้เรื่องรถไฟเดินหน้าเสียก่อน ไม่เช่นนั้นไปแล้วก็กระอักกระอ่วน...”

อ่านระหว่างบรรทัด ก็พอจะเข้าใจว่าตอนนี้มีความ “กระอักกระอ่วน” เพราะไทยต้องการให้ฝ่ายจีน “ร่วมหัวลงโรง” ในโครงการนี้ คือทำเป็นการลงทุนร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่จีนให้ไทยกู้ และร่วมทุนเฉพาะเรื่องการเดินรถ

อย่างนี้เท่ากับโอนความเสี่ยงหลัก ๆ มาอยู่กับฝ่ายไทยฝ่ายเดียว

โครงการรถไฟไทย-จีน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ของสองประเทศไปแล้ว มิใช่เป็นเพียงเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม เพราะความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเจรจา จะอยู่ที่การที่ทั้งสองฝ่ายจะวางเงื่อนไขที่รับได้ทั้งสองประเทศ และไม่ให้เกิดความรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบต่อกันและกัน

จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่รองนายกฯ สมคิดได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ถึงประเด็น เงื่อนไขและรายละเอียดที่เรากำลังเจรจากับฝ่ายจีน เพราะหาไม่แล้วก็จะเกิดเสียงครหาว่าเราถูกกดดันหรือบีบคั้น จนต้องลงทุนด้วยเงินมหาศาล แต่ไม่อาจจะประเมินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

จนมีการเสนอจากผู้วิเคราะห์บางฝ่ายว่าเราควรจะยกเลิกโครงการนี้ไปด้วยซ้ำ

จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย ที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ไปอย่างโปร่งใส บอกกล่าวให้สาธารณชนได้ทราบทุกระยะ และทุกรายละเอียดเพื่อภาครัฐกับเอกชน และนักวิชาการผู้มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย จะได้ประเมินทุกขั้นตอนของโครงการอย่างละเอียดรอบด้าน

การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของรัฐบาล จะต้องฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพราะนี่คือการลงทุนระยะยาว ที่จะมีผลต่อชนรุ่นหลังอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน