โปรลับ และเรื่องต้อง 'ลุ้น' หลังประมูล 4จี

โปรลับ และเรื่องต้อง 'ลุ้น' หลังประมูล 4จี

แม้จะยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าใบอนุญาต งวดแรกประมูล 4จี คลื่น 900

 แต่ผู้ชนะประมูลทั้ง 2 รายก็ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ต้องตาม “ลุ้น” กันอย่างต่อเนื่อง เพราะมีกระแสข่าวลือมาทุกวัน โดยเฉพาะ 1 ในผู้ชนะประมูลคลื่น 900 ว่ายังคุยกับแบงก์ไม่ลงตัว ยังไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน

ประกอบกับมีกระแสข่าววงในมาตลอดว่า ฝั่งแบงก์ยังต้องเข้มงวดในการพิจารณาเงินกู้ เพราะมีบทเรียนราคาแพงมาแล้ว จากครั้งประมูลทีวีดิจิทัล ขณะที่กรอบเวลาการจ่ายเงินยังอยู่ในระยะเวลา 90 วัน แต่ทำเอาทั้งวงการต้องจับตากันแบบไม่กระพริบ

ไม่ใช่แค่เรื่องค่างวดประมูล4จี เท่านั้น ระยะหลังนี้แวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ยังมีเรื่องของ “โปรลับ” ของแต่ละค่ายมือถือที่ถูก “ปูด” มาเมื่อไม่นานว่า แต่ละค่ายมือถือมีโปรลับไว้สำหรับ “สกัด” ลูกค้าที่จะไหลออกไปใช้ค่ายอื่น ทันทีที่ลูกค้าแสดงความประสงค์อย่างแรงกล้าว่าจะ “ย้ายค่าย” โปรลับจะถูกนำเสนอทันที

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พูดในประเด็นนี้ว่า กรณีค่ายมือถือบางค่ายบังคับให้ผู้บริโภค ที่จะโทรไปศูนย์บริการของค่ายมือถืออื่น ต้องฟังข้อความประชาสัมพันธ์ของค่ายตนก่อน ก็เป็นเรื่องที่ตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ และถูกกฎหมายหรือไม่ แต่หากจงใจขัดขวางการโทรออกของผู้บริโภคไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

ตรงข้ามกับมาตรการเชิงลบที่กระทบสิทธิการย้ายค่ายและผิดกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว ค่ายมือถือต่างก็ใช้มาตรการเชิงบวก คือการยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสมัครใจไม่ย้ายค่าย ไม่ว่าการลดราคา หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์

นายประวิทย์ บอกว่า ตามหลักธุรกิจแล้วถือว่าทำได้ เนื่องจากเป็นการสมนาคุณแก่ลูกค้า แต่หากมีสภาพเป็น ”โปร” แล้ว ย่อมไม่มีคำว่า “ลับ” เพราะ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือต้องรายงานรายการส่งเสริมการขาย ให้สำนักงาน กสทช. ทุกเดือน การปกปิดรายการส่งเสริมการขายย่อมผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการสมนาคุณเฉพาะบุคคล โดยไม่มีลักษณะเป็นรายการส่งเสริมการขายก็อาจเป็นคนละกรณีกัน

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราค่าบริการให้แตกต่างกัน ในบริการโทรคมนาคมลักษณะและประเภทเดียวกัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงกว่าในบริการแบบเดียวกัน สามารถร้องเรียนเพื่อจ่ายในอัตราเดียวกับคนอื่นได้ และผู้ให้บริการก็ควรคำนึงถึงหัวอกของผู้บริโภคที่ยังภักดีและไม่ขอย้ายค่ายด้วยว่า เหตุใดในที่สุดต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น

ที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ภายหลังการประมูลคลื่น คือเรามีผู้ให้บริการรายใหม่ หากค่ายมือถือเดิมเสนอโปรลับในราคาที่ต่ำกว่าทุน ย่อมเป็นการกีดกันการค้า ส่งผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และในระยะยาวจะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบเดิมๆ นับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

สถานการณ์หลังการประมูล 4จี จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างชัดเจน ข้อมูลต่างๆ หลั่งไหล ทั้งอุตสาหกรรมตื่นตัว ผู้บริโภคให้ความสนใจรักษาผลประโยชน์ของตัวเองกันเต็มที่ ยิ่งในยุคที่โซเชียล มีเดีย มีบทบาทในโลกของการสื่อสาร ดังนั้นการปิดบัง ซ่อนเร้น หรือพลิกแพลงประเด็นอะไรก็แล้วแต่ จะถูกสังคมตั้งคำถามอย่างทันที

เป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการ ผู้รักษากฏ ต้องมีความจริงใจให้สังคม และผู้บริโภคมากขึ้น เพราะกระบวนการตรวจสอบในปัจจุบันมีหลายช่องทาง เรื่องที่เคยปกปิด ก็จะถูกเปิดเผย เรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ต่อผู้บริโภค ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคมให้ร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น