นิราศย่างกุ้ง เคดาห์และพนมเปญ

นิราศย่างกุ้ง เคดาห์และพนมเปญ

มาเรียนรู้เรื่องการให้ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี ผังเมือง บ้านประชารัฐ การทำโรงแรมสำหรับ SMEs ในประเทศเพื่อนบ้านสักหน่อย

ไทยจะเรียนรู้เพื่อนบ้านบ้างก็คงไม่เสียศักดิ์ศรีใดๆ

หะแรกวันนี้ผมจะเขียนเรื่อง “สิ่งดีๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน แต่รัฐไทยไม่ยอมทำ” แต่ก็เกรงท่านนายกฯ จะเข้าใจผมผิด เชิญไปปรับทัศนคติ (ฮา) ผมเลยขอเขียนเรื่อง “นิราศย่างกุ้ง เคดาห์และพนมเปญ” แทน เพราะเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ไม่ใช่เขียนแบบ “ลมเพ ลมพัด” แน่นอน!

ก่อนอื่นผมขออนุญาตแจงเรื่อง “วิพากษ์ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’” (http://bit.ly/1RUOi74) ที่ผมเขียนไว้คราวก่อน ผมเขียนยกย่องท่านนะครับ ไม่ได้ไปหลู่ท่านแม้แต่น้อย ทุกวันนี้บางคนอาจให้ความเห็นโดยไม่ค่อยได้ “อ่านเอาเรื่อง”

แต่ผมอยากย้ำว่า คนระดับ “จอมยุทธ์” เยี่ยงคุณอนันต์ คุณทองมา คุณประทีป คุณชายนิด ใช่ว่า “จอมยุทธ์” จะยอมเปิดเผยหมดเปลือก ทุกอย่างย่อมมี “เคล็ดลับ” บวกความบังเอิญ (เฮง) ที่หากใครถือเป็นแนวทางแบบ “สุ่มสี่สุ่มห้า” อาจเจ็บตัวได้โดยไม่ทันตั้งตัว อย่างไรก็ตามธุรกิจพัฒนาที่ดินก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนเยี่ยงการสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ทุกคนสามารถรู้ทันกันหมด แต่อย่าลืม “เอาเยี่ยงกา (หรือหงส์) โดยไม่เอาอย่างกา”

ส่วนเรื่องในวันนี้ พอดีว่าในช่วงวันที่ 29-31 มกราคมที่ผ่านมา ผมพาคณะนักธุรกิจไปดูงานที่นครย่างกุ้ง กลับมาก็เคลียร์งานต่อโดยไม่ได้นอน จนไปขึ้นเครื่องบินในวันรุ่งขึ้น 1 กุมภาพันธ์ เพื่อไปประเมินค่าทรัพย์สินให้นักลงทุนมาเลย์ในบริเวณชายแดนรัฐเคดาห์แถวบ่อนอกและสุไหงโกลก กลับมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ก็เคลียร์งานและจะเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกัมพูชา ผมได้สิ่งละอันพันละน้อยที่ชวนให้ “ตาสว่าง” มาแบ่งปันกันครับ

มาเลเซีย: ยาง เช่าที่ 99 ปีและผังเมือง

คำถามแรกที่ผมถามชาวมาเลย์ที่มาร่วมทำงานประเมินค่าทรัพย์สินกับผมก็คือ ราคายางเป็นอย่างไร ผมพบว่าราคายางดิบต่อกิโลกรัมของมาเลเซียลดลงเหมือนไทย แต่ลดลงไปราวหนึ่งในสาม ในขณะที่ของไทยลดลงไปถึงครึ่ง มาเลเซียยังกลับส่งออกยางพาราได้มากกว่าไทยเสียอีก (http://bit.ly/1PYDSBa) ข้อนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยเราพึงสังวรและเรียนรู้ให้มากกว่านี้ ลำพังการแก้ไขปัญหาแบบ “มวยวัด” เช่นที่ผ่านมายังถือว่าไม่ดีเท่าที่ควร

เรื่องที่มาเลเซียให้เช่าที่ดิน 99 ปี ในทางปฏิบัติแทบไม่มีได้พบเห็น เขาให้ต่างชาติซื้อบ้านได้ในห้องชุดหรือหมู่บ้านจัดสรร และตามโครงการ Malaysia My Second Home (MSH) ซึ่งเดี๋ยวนี้เพิ่มราคาเป็นอย่างน้อย 20 ล้านบาท จะซื้อหรือเช่าที่ดินทั่วไปไม่ได้โดยเฉพาะที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและที่ดินชายแดน (http://bit.ly/1ntiuth) นี่จึงเป็นการยืนยันในสิ่งที่ผมเคยเขียน เพื่อว่าไทยเราจะได้ไม่หลงทิศผิดทางให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ทั้งนี้ พล.ต.สรรเสริญ ได้ “พลิกลิ้น” แล้วว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายให้ต่างชาติเช่า แต่ผมเกรงว่าท่านจะ “พลิกลิ้น” อีกรอบ (ฮา)

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่ดินแต่ละแปลงในมาเลเซียมีการระบุแน่ชัดว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในผังเมืองสีอะไร เอาไปทำอะไรได้ จะแปลงการใช้สอย (ส่งเดช) ไม่ได้ เพื่อการควบคุมการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อนี้แตกต่างจากไทยที่บริเวณด่านนอก ปาดังเบซาร์ ยังไม่มีผังเมือง ใครนึกจะสร้างอะไรตรงไหนก็สร้างได้เลย จนทำให้การใช้ที่ดินของไทยเปะปะมากเมื่อเทียบกับในอีกฝั่งหนึ่งของมาเลเซีย

ย่างกุ้ง: ผังเมืองและบ้านประชารัฐ

ในนครย่างกุ้งก็เป็นในทำนองเดียวกับมาเลเซีย ที่นาที่ตั้งอยู่รอบๆ เมืองนั้น ใช่ว่าเจ้าของที่นาจะเอานาไปขายหรือให้เช่าเพื่อก่อสร้างอะไร (ส่งเดช) ได้ตามอำเภอใจ ต้องมีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ข้อนี้แตกต่างจากไทย จึงทำให้เมืองต่างๆ ของไทยเติบโตแบบไร้ทิศผิดทาง บางคนอ้างว่าเป็นการกระจายความเจริญ แต่แท้จริงแล้วเป็นการเติบโตอย่างไม่มีการวางแผนต่างหาก ข้อนี้จะสร้างปัญหาการจราจรขนส่ง สิ้นเปลืองทรัพยากรและค่าใช้จ่ายทั้งของเมืองและของแต่ละบุคคลที่อาศัยอยู่ในเมืองเอง

ในด้านการควบคุมความสูง ก็คล้ายของไทย โดยทางการกำหนดให้รอบๆ เจดีย์ชะเวดากองมีการกำหนดความสูงของการก่อสร้างอาคาร โดยวงแรกในระยะประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างสูงได้ไม่เกิน 58 เมตร วงที่สองสร้างสูงได้ไม่เกิน 105 เมตร และวงที่สาม (ที่เหลือ) สร้างได้ไม่เกิน 127 เมตร อย่างไรก็ตามข้อห้ามนี้สามารถยืดหยุ่นได้ หากเป็นโครงการลงทุนเด่นๆ ทั้งหลาย ไม่ได้ตายตัวแบบไทย ไม่ได้กำหนดไว้ต่ำเตี้ยแบบไทยเช่นกัน

เมียนมาที่แสนยากจน (มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียงหนึ่งในสามของไทย) ก็สร้าง บ้านคนจนหรือ บ้านประชารัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน โดยสร้างเป็นห้องชุดพักอาศัยที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ทั้งนี้ห้องชุดแต่ละหน่วยมีราคาประมาณ 500,000 บาท โดยกำหนดเงินผ่อนไว้ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน แต่รัฐบาลประยุทธ์วาดหวังจะให้ผ่อนเพียงเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเท่ากับทำให้รัฐขาดทุนบักโกรก ส่งผลต่อการคลังของรัฐโดยไม่จำเป็น

พนมเปญ: กำลังบูมตูมๆ

ที่ผมเห็นชัดอย่างหนึ่งคือการทำโรงแรมแสนง่าย ขอให้เป็นอาคารที่อยู่ในทำเลที่ต่างชาติชอบ มีบ้านหลังหนึ่งก็เอามาแบ่งห้องทำโรงแรมได้แล้ว โดยมีช่องทางการขายผ่านเว็บ เช่น booking, agoda โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้เขา 15% ก็ทำได้แล้ว โรงแรมที่ผมเคยพักในกรุงพนมเปญ สนนราคาคืนละเพียง 1,000 บาท แต่มีบริการซักรีดให้ฟรีอีกต่างหาก นอกจากนี้ทุกโรงแรมยังมี wifi ให้ใช้ฟรีไม่อั้นเสียด้วยครับ

ผมยังมีประสบการณ์นั่งรถ บขสระหว่างเมืองในกัมพูชา ปรากฏว่าบนรถบัส มีบริการ wifi ฟรีอีกต่างหาก และยังมีกล้องวงจรปิดไว้จับภาพบนรถถึง 2 กล้องด้วย จะได้ถ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐานหากเกิดอาชญากรรมนั่นเอง รถบัสและรถตู้ท่องเที่ยวแบบนี้มีบริการไปทั่วประเทศ มีกระทั่งมาถึงกรุงเทพมหานครด้วยสนนราคาเพียง 20 ดอลลาร์ (640 บาท) ที่สำคัญมีบริการ wifi ก่อนไทยราว 2 ปีแล้ว

บ้านพี่เมืองน้องของเราโดยรอบพัฒนาไปใหญ่แล้ว และกำลังก้าวกระโดดรุดหน้า เมื่อก่อนเราเจริญกว่ามาเลเซีย เดี๋ยวนี้เขาขึ้นนำ ประเทศโดยรอบก็กำลังจะหายใจรดต้นคอ ไทยเราก็ต้องก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง