“อภิชน” คิดอะไรอยู่

“อภิชน” คิดอะไรอยู่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้ชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับ “อภิชนเป็นใหญ่” โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นการทำให้เกิด “อภิชน”

มากุมอำนาจรัฐและทำให้เกิดปัญหาที่ร้อยรัดจนทำให้ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ นอกจากจะร่างกันใหม่เท่านั้นเพราะจะแก้ตรงไหนให้เป็น “ประชาธิปไตย” มากขึ้น ก็ต้องไปแก้ส่วนอื่นๆตามเกือบทุกส่วน

ข้อเสนอต่อสังคมของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็คงต้องรอให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะคิดเห็นอย่างไร แต่ความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นความพยายามลองอธิบายดูว่า กลุ่มอภิชน” ที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้พวกท่านคิดอะไรกันอยู่ และสิ่งที่พวกท่านคิดนั้นมันจะทำไปสู่อะไรบ้าง

แน่นอนว่าคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่าพวกเขาร่างกันเองไม่ได้มีกลุ่มอะไรมาหนุนทั้งสิ้น แต่ก็คงต้องบอกกันก่อนว่าทุกท่านที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นไม่ได้ร่างขึ้นจากสุญญากาศโดยแยกตัวเองจากสายสัมพันธ์ที่ตนเองมีมาตลอดชีวิต ดังนั้นกระบวนการคิดการตัดสินใจจึงแอบอิงอยู่กับทั้งหมดของชีวิตที่ทุกท่านได้ดำเนินมาซึ่งสังกัดทางสังคมของพวกท่านก็ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดาอย่างประชาชนทั่วไปนะครับ

เราอาจจะเรียกการ “รวมตัวกันของกลุ่มอภิชนในสังคมไทยได้หลายลักษณะแต่ลักษณะที่คนมักจะ (คิดและ) ใช้กันได้แก่คำว่า เครือข่าย” (Network) ซึ่งสำหรับผมเองรู้สึกคำนี้ไม่ค่อยตรงกับระบบความสัมพันธ์ในกลุ่มอภิชนนัก เพราะเครือข่ายทำให้เรารู้สึกนึกถึงความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่ม จะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มอื่นๆ อย่างเป็นไปสู่เป้าหมายหลักเดียวกันโดยไม่ขัดแย้ง ซึ่งผมคิดว่าสำหรับอภิชนของสังคมไทยเราไม่เคยมีลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว

แต่ในที่นี้ผมอยากจะลองคิดในคำว่า “Party of order” โดยหมายถึงการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ แต่ได้สร้างความเห็นพ้องตรงกันในหลักการกว้างๆ ขึ้นชุดหนึ่ง และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มก็จะเป็นอิสระจากกันซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของบางกลุ่มอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งกับ “พวกเดียวกัน” อีกกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกในกลุ่มเองก็เคลื่อนย้ายตนเองได้อย่างอิสระระดับหนึ่ง โดยที่ไม่เป็น “มุ้ง” (Faction) ที่เหนียวแน่นแบบกลุ่มการเมืองในญี่ปุ่นหรือจีน

หากเราคิดถึงความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิด “Party of Order” เช่นนี้ สิ่งที่ต้องมองหรือเข้าใจให้ได้ได้แก่อะไรเป็นหลักการกว้างๆ และเป็นชุดความคิดที่ทำให้ “อภิชน” ทั้งหลายเข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผมคิดว่ามีสองชุดความคิดที่เป็นหลักการที่บรรดาอภิชนทั้งหลายยึดเอาไว้เป็นแกนกลาง ได้แก่ ความคิดเรื่อง ดุลยภาพทางอำนาจ” และ “ความสงบเรียบร้อย

บรรดาชนชั้นนำไทยที่มีความต่อเนื่องกันมายาวนานและสามารถที่จะใช้วิธีการสลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มด้วยการ “ดูดกลืนเอามาเป็นพวก” (Co-option) ทำให้สามารถทำให้แต่ละกลุ่มยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้ไม่ถึงกับขัดแย้งรุนแรงโดยจะมีคนที่น่าไว้วางใจหรือคนที่มี บารมี ซึ่งก็คือคนที่สามารถทำให้เกิดการจำหน่ายจ่ายแจก (Distribution) ทรัพยากรอย่างเสมอหน้า ซึ่งหมายความว่าทุกกลุ่มทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือเสมอภาคกัน

ความต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกพรรคการเมือง และความต้องการให้พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นอ่อนแอก็เพื่อที่จะทำให้ “ดุลยภาพทางอำนาจ” นั้น อยู่ในสภาวะ “ดุล” กันได้ไม่มีคนกลุ่มใดมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นๆ อย่างเด็ดขาด

ความคิดเรื่อง “ดุลยภาพทางอำนาจเช่นนี้กลายเป็นกรอบความคิดหลักที่จะทำให้ อภิชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวทันที หากเมื่อใดพบว่าบางกลุ่มเริ่มใช้อำนาจอย่างไม่คำนึงถึง “ดุลยภาพ” เช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่มหมออาวุโสที่ถูกริบความเป็นอิสระของกลุ่มตนในการจัดการมูลนิธิห้ามคนกินเหล้า

ความคิดเรื่อง ความสงบเรียบร้อย” เป็นกรอบความคิดในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยมาเนิ่นนาน ซึ่งพัฒนามาจากความคิดในการเปรียบเทียบสังคมกับองคาพยพของร่างกาย ความคิดนี้จะเน้นการจำแนกคนออกเป็นชั้นหรือกลุ่มอาชีพ พร้อมกันนั้นก็จะเน้นให้แต่ละคนทำตามหน้าที่ของตน อย่าก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ “อภิชน” อึดอัดและไม่พอใจหากเห็นการก้าวข้าม “หน้าที่” ที่ตนเองมอบเป็นคุณลักษณะของคนอื่น

พรรคการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองที่ “อภิชนต้องการ ก็จะต้องทำหน้าที่จรรโลงการทำตามหน้าที่ของแต่ละกลุ่มเอาไว้ หากผู้นำทางการเมืองกลุ่มใดทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนและทำหน้าที่ข้ามเส้นที่ขีดไว้ในใจ อภิชนก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น

ความคิดเรื่อง “ดุลยภาพทางอำนาจและ ความสงบเรียบร้อยเป็นความคิดทางการเมืองที่ Party of Order ได้ร่วมกันจรรโลงมาเป็นเวลานาน และทำหน้าที่ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้ามาได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้ อภิชนทั้งหลายคิดว่าเป็นกรอบความจริงสูงสุดที่ต้องยึดกุมเอาไ ว้และก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้