เมื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อาจไม่พอแก้ความฉ้อฉล

เมื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อาจไม่พอแก้ความฉ้อฉล

สังคมไทยในยุคนี้คงไม่มีปัญหาอะไรเลวร้ายเกินไปกว่าปัญหาอันเนื่องมาจากเรื่องความฉ้อฉล ทั้งในกลุ่มคนจนและใน

บรรดามหาเศรษฐี ความฉ้อฉลดูจะมีอยู่อย่างทั่วถึง ร้ายยิ่งกว่านั้นเหตุการณ์รายวันยังยืนยันอีกว่า ในวงการที่ไม่น่าจะมีความฉ้อฉลมากนักเนื่องจากควรจะประกอบด้วยบุคคลที่มีจรรยาบรรณสูงก็มีความฉ้อฉลอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นในวงการพระ หมอ ครู หรือผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะตำรวจ

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ชี้บ่งว่า ถ้าบุคคลเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น (อาจยกเว้นในกรณีของพระ) พวกเขาจะลดความฉ้อฉลด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน นั่นคือ ประการแรก หากถูกจับได้และถูกไล่ออกจากงาน รายได้ที่สูญหายไปจะสูงมากส่งผลให้พวกเขาไม่อยากเสี่ยง และประการที่สอง บุคคลเหล่านี้มีเป้าหมายด้านรายได้อยู่ในใจแล้ว เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปถึงจุดนั้น พวกเขาไม่ต้องการเพิ่มอีกมากนักโดยเฉพาะจากแหล่งที่มีความเสี่ยงสูง

หากใช้ทฤษฎีดังกล่าวเป็นตัวชี้นำในด้านการแก้ความฉ้อฉล เราต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้บุคคลในวงการต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่มาตรการแนวนั้นอาจไม่ได้ผลตามความคาดหมายตามทฤษฎีหรือร้ายยิ่งกว่านั้น มันอาจทำให้ความฉ้อฉลเพิ่มขึ้นก็ได้ประเด็นนี้ นิตยสารเดอะอีโคโนมิสต์ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ เสนอรายงานเกี่ยวกับปรากฏการณ์และผลการวิจัยในแอฟริกาอันน่าสนใจยิ่ง จึงขอนำมาปันกับผู้ไม่มีโอกาสได้อ่านนิตยสารดังกล่าว

เมื่อปี 2553 รัฐบาลของประเทศกานาเริ่มดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐ โดยตำรวจได้รับการปรับเงินเดือนมากกว่าพนักงานสายอื่น กล่าวคือ เงินเดือนตำรวจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทันที รัฐบาลคาดหวังว่าการได้รับเงินเดือนมากขึ้นขนาดนั้นจะทำให้ตำรวจเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องการให้ลดการตั้งด่านเพื่อไถเงินผู้ขับขี่รถยนต์ (ในกานา การสำรวจความเห็นของประชาชนสรุปว่า ร้อยละ 91 เชื่อว่าตำรวจฉ้อฉลและมากกว่านั้นเชื่อกันว่านักการเมืองฉ้อฉล)

ในตอนที่รัฐบาลปรับเงินเดือนตำรวจนั้นพอดีเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งด่านกักรถบรรทุกที่ขนสินค้าระหว่างกานาและประเทศบูร์กินาฟาโซ โดยผู้ขับขี่ที่มีเอกสารครบถ้วนรับบันทึกข้อมูลอย่างละเอียดว่าพวกเขาถูกกักกี่ครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลานานเท่าไรและต้องจ่ายให้ตำรวจและพนักงานศุลกากรครั้งละเท่าไร ต่อมานักเศรษฐศาสตร์อเมริกันสองคนซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานของผู้ขับรถบรรทุกตามสายดังกล่าว 2,100 คน ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตำรวจกานาฉ้อฉลมากขึ้นหลังจากได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับระดับที่เคยทำมาก่อนหรือกับระดับของพนักงานศุลกากรและตำรวจบูร์กินาฟาโซ ตำรวจกานาตั้งด่านเพิ่มขึ้น แต่ละด่านกักรถไว้นานขึ้นและไถเงินมากขึ้น

ผลการวิเคราะห์ที่ออกมาตรงข้ามกับความคาดหมายทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองงุนงง พวกเขาเสนอข้อคิดว่าน่าจะมีสองปัจจัยที่ทำให้ผลออกมาเช่นนั้น นั่นคือ ปัจจัยแรก ผู้บังคับบัญชาและญาติของตำรวจกดดันให้ตำรวจต้องจ่ายให้ตนมากขึ้น ปัจจัยที่สอง ตำรวจมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นเนื่องจากมองตัวเองว่ามีคุณค่ามากขึ้นจากการที่มีเงินเดือนเป็นสองเท่า แต่นั่นเป็นการคาดเดาของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งอาจมิได้มองปัญหาแบบครอบคลุมและไม่เข้าใจในสังคมกานาอย่างถึงก้นบึ้งจริงๆ

ในเบื้องแรก ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวใช้ไม่ได้เนื่องจากมิได้วางอยู่บนฐานของธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์ ซึ่งมีความโลภแบบไม่มีที่สิ้นสุดไม่ว่าจะเป็นในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่ก้าวหน้ามากแล้ว ในประเทศก้าวหน้ามีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าเมื่อคนงานได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่งโมงมากขึ้น แทนที่จะลดจำนวนชั่วโมงทำงานลง กลับเพิ่มชั่วโมงทำงาน ประเด็นที่สอง ในสังคมกานา ตำรวจรู้ดีว่าโอกาสที่ตนจะถูกจับได้มีน้อยนิด ฉะนั้น พวกเขาไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินเดือนที่สูงขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใช้ไม่ได้ จะต้องใช้อะไรลดความฉ้อฉล?

คำถามนี้มีคำตอบจากตัวอย่างของสิงคโปร์ ซึ่งนโยบายลดความฉ้อฉลมีองค์ประกอบสามอย่างด้วยกัน นั่นคือ เพิ่มเงินเดือนให้พนักงานของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ กำหนดบทลงโทษให้หนักมากๆ สำหรับผู้ละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม และเลือกผู้นำทางการเมืองที่มีข้อดีหลายๆ ด้าน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเข้มแข็งต่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น

เมื่อมององค์ประกอบทั้งสามนั้นแล้ว ความหวังที่จะลดความฉ้อฉลในเมืองไทยลงคงมีไม่มากนัก จริงอยู่ฐานทางด้านเศรษฐกิจอาจเพียงพอที่จะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าการขึ้นเงินเดือนนั้นทำพร้อมกับการลดจำนวนข้าราชการลงเนื่องจากในขณะนี้มีหน่วยงานที่มีข้าราชการทำงานซ้อนกันอยู่ไม่น้อย ส่วนกฎเกณฑ์ต่างๆ คงตั้งขึ้นไม่ยากหากเรามีผู้นำในระบบการเมืองที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและความแข็งแกร่งเกินลี กวน ยู ต้องมีข้อดีหลายอย่างเกินลี กวน ยู เพราะสังคมไทยในปัจจุบันสลับซับซ้อนกว่าสิงคโปร์มาก เนื่องจากสิงคโปร์มีขนาดเล็กและเป็นประเทศเกิดใหม่ในยุคก่อนโลกไร้พรมแดนเมื่อลี กวน ยู เริ่มบริหารประเทศ จะหาผู้นำ หรือกลุ่มผู้นำเช่นนั้นจากที่ไหนยังมองไม่เห็น

การสรุปเช่นนั้นอาจเป็นการมองเมืองไทยในแง่ลบเกินไป บางทีรัฐธรรมใหม่จะทำให้สังคมไทยได้ผู้นำ หรือกลุ่มผู้นำที่มีข้อดีเกินลี กวน ยู หรือไม่ก็จะทำให้คนไทยสมัครใจลดความฉ้อฉลลงเอง?