,คำเตือนจากธรรมชาติ

,คำเตือนจากธรรมชาติ

อากาศหนาวรอบล่าสุดที่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยด้วยความรวดเร็ว และด้วยระดับความเย็นที่ทำให้การไม่อาบน้ำ กลายเป็นเรื่องปกติ

เป็นสัญญาณหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความวิปริตแปรปรวนของดินฟ้าอากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สิบกว่าปีมานี้ มีข่าวคนร้อนตายในประเทศที่อยู่ในเขตอากาศหนาว มีข่าวน้ำท่วมทำลายบ้านเรือนในพื้นที่ที่เมื่อก่อนไม่ค่อยจะได้เจอกับน้ำฝน พายุสารพัดชื่อเรียงคิวกันเข้ามากระหน่ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก แม้ความวิปริตของสภาพอากาศของโลกเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ในอดีต เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแบบนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนพวกเรา?

ผลการศึกษาของ Global Footprint Network พบว่า ตอนนี้เราใช้ทรัพยากรเพื่อการบริโภคและทรัพยากรเพื่อการดูดซับของเสียที่เราผลิตขึ้น คิดเป็น 1.6 เท่าของทรัพยากรทั้งหมดที่โลกเรามี หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้าเราจะต้องการโลกถึง 2 ใบ เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและวิถีการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยังยืน พูดง่ายๆ ก็คือ เรากำลังกลืนกินโลกไปนี้ทีละน้อย และเมื่อใดที่โลกถูกกลืนกินไปจนหมด มนุษย์และเพื่อนร่วมโลกทั้งหลายต้องเจอกับหายนะครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

โดยปกติแล้ว ระบบนิเวศน์จะมีกลไกในการฟื้นฟูตัวเอง หาทางเอาทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เหมือนกับที่เราเคยเรียนตอนมัธยมเรื่องของวงจรอาหาร เมื่อใดที่ความสมดุลของวงจรถูกทำลาย ระบบนิเวศน์ก็จะต้องปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ และการปรับตัวเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่ในระบบ

โลกถือเป็นระบบนิเวศน์ที่ใหญ่ที่สุด มีระบบรักษาสมดุลที่สลับซับซ้อนเกินกว่าองค์ความรู้ในปัจจุบันจะสามารถอธิบายได้หมด แม้จะไม่เข้าใจทั้งหมด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโลกทุกวันนี้ ที่เราเรียกกันว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศน่าจะเป็นสัญญาณบอกเหตุได้ว่า โลกเองกำลังย่ำแย่ โลกจึงพยายามปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพเสียสมดุลที่เกิดขึ้นนี้

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ถูกอ้างถึงบ่อย เมื่อมีการพูดถึงปัญหาโลกร้อน คือ ผลการศึกษาของ Intergovernmental Panel on Climate Changeตามรูปที่แสดงไว้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ภาวะอากาศในปัจจุบันมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นมากกว่าในอดีต และอุณหภูมิมีความผันผวนมากขึ้น เหมือนกับคนป่วยเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว

แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า วงจรสภาพอากาศแบบนี้ เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นกับโลกมาแล้วหลายรอบในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมา เราแค่บังเอิญมาอยู่ในช่วงที่วงจรนี้กลับมาพอดี ซึ่งหากเชื่อตามแนวคิดนี้ นัยยะในเชิงนโยบาย คือ เราไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องตื่นตกใจ ใช้ชีวิตต่อไป เดี๋ยวทุกอย่างก็จะกลับมาดีเอง

สำหรับตัวผู้เขียนเอง ไม่เชื่อแนวคิดวงจรสภาพอากาศสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานและความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์เพียงพอจะไปคัดค้านแนวคิดนี้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า มนุษย์เรานี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหา การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดของระบบนิเวศน์รอบตัวและระบบนิเวศน์โดยรวมของโลก เอาแต่แข่งขันกันสร้างความมั่งคั่งตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม ซึ่งเชื่อกันว่าจะนำความผาสุกมาให้กับทุกคนกลับกลายเป็นดาบสองคมกลับมาทำร้ายเรา หนำซ้ำเพื่อนร่วมโลกต่างสายพันธุ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย

หากความรุ่งโรจน์หมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราและลูกหลานในอนาคต แนวทางการพัฒนาแบบนี้ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายก็ได้ ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยนั้นเป็นการเดินตามรอยเท้าของประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นมาตลอด วาดวิมานในอากาศไว้ว่าวันหนึ่งเราจะได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของเอเชีย การเลือกมองโลกเพียงด้านเดียวแบบนี้ทำให้เรา (จงใจ) หลงลืมด้านมืดของมันไป ไม่ได้ฉุกคิดว่ามหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็เป็นตัวการใหญ่ในการทำลายโลกนี้ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลของ Global Footprint Network อีกชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้นำมาแสดงไว้ ชื่อว่า ดัชนีรอยประทับทางนิเวศวิทยา ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจรองลงมาอย่างนิวซีแลนด์ แคนาดา สวีเดน กลับเป็นประเทศที่มีความมั่นคงในเชิงนิเวศน์มากกว่าพี่เบิ้มทั้งหลายเสียอีก

ประเทศเหล่านี้ก็เป็นประชาธิปไตย เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดเช่นกัน เหตุใดพวกเขาจึงสามารถรักษาสมดุลในการพัฒนาเอาไว้ได้? บางทีเราอาจต้องหันไปศึกษาแนวทางการพัฒนาของประเทศเหล่านี้บ้าง แล้วนำมาปรับใช้กับบ้านเราให้เหมาะสม ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่อย่างน้อยคนไทยก็จะได้อยู่กันอย่างมีความสุขมากขึ้น หากเราทำได้เป็นผลสำเร็จ อาจกลายเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นทำตามซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกใบนี้ในระยะยาว

แม้ว่าหลายประเทศหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการกำหนดโควตารายปีแต่ละประเทศจะปล่อยก๊าซออกมาได้มากน้อยเพียงใด แต่แนวทางนี้ก็ยังถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกราคา ด้วยการเปิดโอกาสให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซเยอะสามารถซื้อโควต้าการปล่อยก๊าซจากประเทศที่มีโควต้าเหลือได้ แต่การทำเช่นนี้ เป็นเพียงการชะลอความรุนแรงของปัญหา ในเมื่อกลไกตลาดเป็นต้นตอของปัญหา เราจะใช้เครื่องมือเดียวกันมาแก้ปัญหาอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด

ประเทศที่มีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูงไม่ได้แก้ไขปัญหาในประเทศของเขาด้วยการใช้กลไกตลาดหรือกฎหมายเท่านั้น เขามีกุศโลบายในการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่แยบยล ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก มีการลงทุนเพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ถังแยกขยะในทุกเขตชุมชน การส่งเสริมให้ใช้น้ำทิ้งที่ไม่สกปรกนักในการรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้แล้ว มีกรณีศึกษาจำนวนมากที่เป็นหลักฐานว่าการใช้พลังทางสังคมและวัฒนธรรมในการแก้ปัญหา อาจได้ผลดีไม่แพ้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ แต่มีความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่มากกว่า

ประเทศไทยและคนไทยเลือกได้ว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ร่วมทำลายโลก ก็หรืออยากถูกจดจำในฐานะของประเทศหนึ่งที่เป็นผู้ปกปักรักษาโลกใบนี้ ไม่ต้องไปมองหาแนวทางจากที่ไหน แค่เอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้อย่างจริงจัง ก็ช่วยให้เราดีขึ้นได้ตั้งแต่วันนี้

อย่ารอให้คำประท้วงจากธรรมชาติรุนแรงกว่านี้เลย